กาตาร์ยื่นคำร้องต่อ WTO
มีรายงานว่า กาตาร์ได้ยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการต่อองค์การการค้าโลก (WTO) โดยหวังจะเป็นการโต้กลับการถูกบอยคอตจากซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
นับเป็นท่าทีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในกระบวนการพิพาทของ WTO ซึ่งหมายความว่าประเทศคู่ขัดแย้งต้องมานั่งลงเพื่อเจรจาพูดคุยกับกาตาร์
แต่หากการระงับข้อพิพาทไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ภายใน 60 วัน ข้อพิพาทนี้จะถูกวินิจฉัยโดยคณะพิจารณาชี้ขาดของ WTO
โดยสำนักข่าวรอยเตอร์เป็นสำนักข่าวแห่งแรกที่รายงานข่าวว่ากาตาร์มีการยื่นคำร้องแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทาง WTO กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า ยังไม่ได้รับเอกสาร จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ถึงรายงานข่าวนี้
ทั้งนี้ ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอีกหลายประเทศในอ่าวเปอร์เชียประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย.โดยกล่าวหาว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย และขับไล่พลเมืองกาตาร์ออกจากประเทศภายใน 14 วัน และห้ามไม่ให้พลเมืองของประเทศตัวเองเดินทางไปเที่ยวหรืออาศัยอยู่ในกาตาร์
กาตาร์ปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างแข็งขันและไม่ตอบรับเงื่อนไขทั้งหมดของทางซาอุฯ ที่เสนอให้กาตาร์ปฏิบัติตามเพื่อให้ยกเลิกการคว่ำบาตร
อียิปต์เองก็ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ แต่ไม่ได้มีคำสั่งห้ามพลเมืองของประเทศอียิปต์ 180,000 คนที่อาศัยอยู่ในกาตาร์แต่อย่างใด ขณะที่เยเมน มัลดีฟส์และรัฐบาลลีเบียที่มีฐานอยู่ทางตะวันออกได้ดำเนินรอยตามในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอียิปต์ได้ประกาศปิดน่านฟ้าไม่ให้สายการบินของกาตาร์บินผ่าน และกล่าวว่าสายการบินต่างประเทศอื่นๆ ยังคงได้รับอนุญาตให้บินผ่านกาตาร์ได้
บรรดาประเทศผู้ร่ำรวยน้ำมันมีการดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยให้ความสำคัญกับประเด็นที่แตกต่างกัน แต่มี 2 ประเด็นสำคัญที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจระหว่างกาตาร์กับประเทศเพื่อนบ้านในช่วงไม่กี่ปีมานี้
โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญคือการที่กาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายจากรัฐอิสลาม โดยมีการสืบทราบมาว่าการตาร์ให้ความช่วยเหลือบางกลุ่ม เช่น Muslim Brotherhood แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส
และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือความสัมพันธ์ของกาตาร์กับอิหร่าน ซึ่งแชร์แหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลกร่วมกัน โดยพลังกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์เป็นคู่ขัดแย้งสำคัญของนิกายซุนนีซึ่งปกครองประเทศซาอุดิอาระเบีย.