เศรษฐกิจเกาหลีใต้ชะลอตัว
เศรษฐกิจเกาหลีใต้ชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากการลงทุนในการก่อสร้างลดลงและปริมาณการส่งออกที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก
นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การชะลอตัวส่วนใหญ่มาจากผลกระทบเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขที่แข็งแกร่งไตรมาสแรก แต่ยังไม่เห็นสัญญาณด้านลบสำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต
ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) รายงานว่า ตัวเลขจีดีพีขยายตัว 0.6% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีการขยายตัว 1.1% โดยการขยายตัว 1.1% ในไตรมาสแรกถือเป็นตัวเลขการขยายตัวสูงที่สุด นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2558 เป็นต้นมา
เมื่อเทียบกับปี 2559 เศรษฐกิจเติบโต 2.7% เท่ากับตัวเลขคาดการณ์จากนักเศรษฐศาสตร์
ทั้งนี้ เศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้แรงหนุนใหม่จากการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลประเมินว่า จะช่วยสนับสนุนตัวเลขการเติบโตได้ประมาณ 0.2% ช่วยผลักดันการขยายตัวในปีนี้ให้อยู่ที่ 3%
ขณะที่การส่งออกยังเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยตัวเลขสองหลัก แต่การบริโภคมีตัวเลขที่อ่อนแรงลง แต่การอ่อนแรงในการใช้จ่ายอาจเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 0.9% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ที่มีตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในแง่บวกจากนโยบายที่มีการประชาสัมพันธ์ของประธานาธิบดีมุน แจ อิน
“ การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนและสิ่งอำนวยความสะดวกดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ” สตีเฟน ลี นักเศรษฐศาสตร์ประจำ Meritz Securities ในกรุงโซลกล่าว
ปริมาณการส่งออกลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่พูดไม่ได้ว่าโมเมนตัมของการฟื้นตัวได้จบลงแล้ว
อ้างอิงจากความเห็นของนายลี เนื่องจากงบประมาณเพิ่มเติมของรัฐบาลที่จะเริ่มส่งผลในไตรมาส 3 จะช่วยผลักดันการเติบโตของปีนี้ให้อยู่ประมาณ 2.9%
การเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ขับเคลื่อนโดยการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวก ชอง คยู อิล ผู้อำนวยการทั่วไปประจำ BOK กล่าว โดยเขาเสริมว่า ความต้องการเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศเพิ่มขึ้นเนื่องจากอากาศร้อน และมลพิษในอากาศ
การเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ช่วงปลายเดือนส.ค.และดีมานด์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าเนื่องจากมีการย้ายเข้าอพาร์ทเมนท์ใหม่ จะเป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับการบริโภคในช่วงครึ่งหลังของปี อ้างอิงจากข้อมูลของนายชอง
การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 1.1% จากไตรมาสก่อน อ้างอิงจากแถลงการณ์ของ BOK ขณะที่การลงทุนในการก่อสร้างเติบโต 1% เมื่อเทียบกับ 6.8% ในไตรมาสแรก
ปริมาณการส่งออกลดลง 3% จากไตรมาสแรก แต่การลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกขยายตัว 5.1% จากไตรมาสที่แล้ว.