อียูชี้วัคซีน ‘แอสตราเซเนกา’ มีผลดีมากกว่าเสีย
หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านยาของยุโรประบุว่า วัคซีนต้านโควิด-19 มีผลดีมากกว่าความเสี่ยงของผลข้างเคียง เนื่องจากหลายประเทศในยุโรปทยอยระงับการใช้วัคซีนตัวนี้จากรายงานการเสียชีวิตด้วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีน
ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 มี.ค. เอเมอร์ คุก ผอ.องค์การยายุโรป (European Medicine Ageny – EMA) ระบุว่า ทางหน่วยงานได้ทำการสืบสวนข้อมูลที่มีทั้งหมดและรายงานของแต่ละเคสเพื่อให้ได้ผลสรุปในบ่ายวันที่ 18 มี.ค.
แม้ผลการสอบสวนจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เธอย้ำว่า EMA “ขอย้ำว่าวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกามีผลในการป้องกันไวรัสโควิด-19 มากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง”
สัปดาห์ก่อน องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุสอดคล้องกับ EMA ว่า ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าวัคซีนทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะทำให้เกิดลิ่มเลือด
คุกยังชี้ว่า หลายพันคนในอียูมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันทุกปีจากเหตุผลที่แตกต่างหลากหลาย และไม่มีรายงานว่าเกิดลิ่มเลือดเพิ่มขึ้นจากผลการศึกษาทางคลินิกจากวัควีนที่พัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนการ่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
มากกว่า 16 ประเทศ รวมทั้งเยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศสและสเปน ได้ระงับการใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกา หลังจากมีรายงาน 37 เคสของผู้ที่ฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย
บรรดานักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ตัวเลขนี้ยังต่ำกว่าที่อาจเกิดขึ้นได้กับประชากรทั่วไป โดยพิจารณาจากตัวเลขผู้ที่ฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาไปแล้วกว่า 17 ล้านคนในอียูและสหราชอาณาจักร
“หลักฐานคือ มีการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาไปแล้วหลายล้านคน และเราพบว่าไม่มีความเชื่อมโยงว่าวัคซีนทำให้เกิดลิ่มเลือดมากกว่าที่อาจเกิดได้ทั่วไป” ภารัต พันคาเนีย อาจารย์อาวุโสประจำมหาวิทยาลัยแพทย์ Exeter กล่าวกับสื่อ
“ เป็นเหตุบังเอิญมากกว่าที่จะเชื่อมโยงกับวัคซีน” เขาเสริม
สัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นจาก 200 ต่อล้านในช่วงกลางเดือนก.พ. เป็น 270 ต่อล้าน โดยระดับนี้ยังคงห่างจากอัตรา 490 ต่อล้านที่เคยเกิดขึ้นในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว แต่ก็ทำให้เกิดความกังวล
หลายประเทศเลือกที่จะสั่งซื้อวัคซีนของแอสตราเซเนกา เพราะมีราคาถูกกว่าและจัดการขนส่งง่ายกว่าวัคซีนตัวอื่น นอกจากนี้ ยังเป็นวัคซีนที่มีบทบาทสำคัญในโครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือที่จัดส่งวัคซีนให้ประเทศยากจน
อย่างไรก็ตาม ทาง WHO ย้ำอีกครั้งในวันที่ 12 มี.ค.ว่า วัคซีนของแอสตราเซเนกาส่วนใหญ่ผลิตในยุโรป แต่ในส่วนของโครงการโคแวกซ์ จะผลิตในอินเดียและเกาหลีใต้
ในประเทศไทย หลังจากมีการชะลอชั่วคราว ก็ได้มีการฉีดวัคซีนตัวนี้ให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไปแล้วในวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา
“ประชาชนอาจกังวล แต่เราต้องเชื่อแพทย์ เชื่อในบุคลากรการแพทย์ของเรา” นายกฯประยุทธ์กล่าว
ประเทศอื่นๆในเอเชียแสดงความกังวลเกี่ยวกับวัคซีนตัวนี้เช่นกัน โดยอินโดนีเซียสั่งระงับการใช้วัคซีนตัวนี้แล้ว และจะรอรายงานของ WHO ให้มีความชัดเจนก่อน