‘แมร์เคิล’ จัดการวัคซีนแย่ในเยอรมนี
เยอรมนีได้รับคำชมว่ารับมือกับโควิด-19 ได้ดีตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาด จากมาตรการเร่งตรวจเชิงรุกอย่างรวดเร็ว แม้จะมีผู้ติดเชื้อมาก แต่กลับมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ
แต่หลังจากเริ่มมีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 โดสแรกในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ เยอรมนีสามารถฉีดวัคซีนได้เพียง 6% ของจำนวนประชากร โดยมีผู้ได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้วประมาณ 5 ล้านคน และผู้ได้รับวัคซีนโดสที่สองประมาณ 3 ล้านคน
ปัญหาส่วนหนึ่งคือเยอรมนีมีการฉีดวัคซีนที่ศูนย์วัคซีนเท่านั้น และไม่มีการฉีดที่สถานพยาบาล ไม่เหมือนกับสหราชอาณาจักร ซึ่งแพทย์ในท้องถิ่นฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มานานหลายเดือน ทำให้ปัจจุบัน สหราชอาณาจักรมีประชาชนกว่า 21 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้ว และกว่า 1 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนโดสที่สอง
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลยอมรับว่าล้มเหลวกับอัตราความเร็วในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน และระบุว่า สถานพยาบาลสามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่สิ้นเดือนมี.ค.นี้
โดยผลสำรวจล่าสุดที่จัดทำโดยสถานี ARD เผยว่า มีชาวเยอรมันถึง 73% ที่ไม่พอใจกับมาตรการฉีดวัคซีนของรัฐบาล
เมื่อโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดอีกระลอกช่วงสิ้นปีที่แล้ว ดูเหมือนนายกฯแมร์เคิลจะมีโอกาสบริหารจัดการวัคซีนให้สำเร็จด้วยดีได้ เนื่องจากเยอรมนี (ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลกด้านความมีประสิทธิภาพ) มีวาระเป็นประธานสภาอียู และเนื่องจากประธานคณะกรรมาธิการอียูคือ เออร์ซูลา วอน เดอร์ เลเยน ซึ่งเป็นอดีตรมว.กลาโหมของเยอรมนี ทำให้ประเทศมีพันธมิตรที่มีตำแหน่งสูงสุดในอียู
แต่เมื่อถึงเวลากระจายวัคซีน แมร์เคิลยืนยันว่าอียูควรมุ่งเน้นจัดหาวัคซีนในนามของอียู มากกว่าที่จะเป็นเยอรมนีและประเทศสมาชิกอื่นๆแบบตัวใครตัวมัน แต่การกระจายวัคซีนของอียูกลับล่าช้าไปมาก
“เยอรมนีเป็นผู้สร้างความล้มเหลวของยุโรป เพราะเยอรมนีและแมร์เคิลอยู่เบื้องหลังการผลักดันกระบวนการดำเนินการด้านวัคซีนของอียู ซึ่งล้มเหลวมาตั้งแต่แรก” จูเลียน เรเชลต์ บก.บริหารของหนังสือพิมพ์ Bild กล่าว
“เธออยากทำทั้งหมดเพื่อให้ยุโรปและเธอเป็นยุโรปที่ยิ่งใหญ่”
ในเดือนก.พ. สื่อฉบับนี้พาดหัวหน้าแรกว่า “อังกฤษที่รัก เราอิจฉาคุณ” ซึ่งเป็นข้อความที่ชี้ว่า เยอรมนีต้องดิ้นรนกับมาตรการฉีดวัคซีน เมื่อเทียบกับยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนของสหราชอาณาจักร ซึ่งได้รับคำชมว่าประสบความสำเร็จ
และการเปรียบเทียบกับสหราชอาณาจักรยิ่งเจ็บปวดมากขึ้นในสัปดาห์นี้ เมื่อแมร์เคิลเปลี่ยนใจประกาศไม่อนุมัติรับรองวัคซีนของแอสตราเซเนกาให้ใช้งานกับผู้มีอายุเกิน 65 ปี
ขณะที่วอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการอียูยอมรับช่วงต้นเดือนก.พ.ว่า ยุโรปชักช้าในการอนุมัติรับรองวัคซีน และมองในแง่ดีเกินไปเรื่องการผลิตวัคซีนจำนวนมาก
เฟรเดอริเก เบททีนา โคลสเตอร์ หญิงวัย 59 ปีคนหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกสิ้นหวังในการฉีดวัคซีน โดยเธอบอกว่า โรคที่เธอเป็น ทำให้เธอไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรกที่จะได้ฉีดวัคซีน และเธออายุต่ำกว่า 60 ปี ทำให้เธอถูกจัดเป็นคนกลุ่มสุขภาพดีที่อายุต่ำกว่า 60 ปี
โคลสเตอร์ระบุว่า มาตรการฉีดวัคซีนของเยอรมนีนั้น “น่าผิดหวังที่สุด” และเธออยู่อย่างกลัวจะติดเชื้อ
“ฉันไม่สนใจว่าจะได้วัคซีนตัวไหน ขอให้ได้ฉีดก็พอ”