บราซิลดับจากโควิดทะลุ 2.5 แสนคน
ริโอเดอจาเนโร – หนึ่งปีหลังจากมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในบราซิล จนถึงตอนนี้ ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกามีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดนี้เกิน 250,000 รายแล้ว โดยไวรัสยังคงแพร่ระบาดเนื่องจากปัญหาในการฉีดวัคซีน
ประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ซึ่งมีแนวคิดขวาจัด ต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์มาตลอด และระบุว่าเขาจะไม่รับวัคซีนโควิด-19 ถูกวิจารณ์ถึงวิธีการในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
บราซิลมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ และมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 10.3 ล้านราย อยู่ในอันดับ 3 รองจากสหรัฐฯและอินเดีย
โดยเมื่อวันที่ 25 ก.พ. กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1,541 รายในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดจากโควิด-19 ถึง 251,498 รายแล้วในบราซิล
สถานการณ์ในบราซิลดูจะถดถอยลง เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่นักวิจัยเชื่อว่าทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา บราซิลมีค่าเฉลี่ยผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาด คือ เกือบ 1,100 ราย สูงมากกว่าช่วงพีคในเดือนก.ค.ปีที่แล้ว
“ ไวรัสกำลังแพร่กระจายอย่างไร้การควบคุม” คริสโตแวม บาร์เซลลอส จากสถาบันชีวเคมี Fiocruz ซึ่งกำลังผลิตวัคซีนของแอสตราเซเนการะบุ
“ บราซิลกำลังประสบกับ การติดเชื้อสูงสุดเป็นครั้งที่ 2 ไม่ใช่ระลอก 2 เพราะเรามีผู้เสียชีวิต 1,000 รายต่อวันมากว่า 5 สัปดาห์แล้ว” เขากล่าว
ทางการระบุว่า ไวรัสกำลังแพร่ระบาดในหลายเมืองใหญ่ และเมื่อไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ระดับประเทศ หรือในท้องถิ่น ทำให้ชาวบราซิลสามารถเดินทางได้อย่างเสรีทั่วประเทศที่มีขนาดใหญ่เท่ากับทวีปหนึ่งอย่างแน่นอน
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข มีการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ใน 17 รัฐของบราซิลเป็นอย่างน้อย
หลังจากเริ่มต้นอย่างล่าช้าและมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง บราซิลได้เริ่มจัดการฉีดวัคซีน โดยได้มีการกระจายวัคซีนไปแล้วกว่า 7.5 ล้านโดสในบราซิล ซึ่งมีจำนวนประชากรกว่า 210 ล้านราย
วัคซีนต้านโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทซิโนแวค ไบโอเทคของจีน ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญของบราซิล มีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากสหราชอาณาจักรและแอฟริกาใต้ และขณะนี้มีการทดสอบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลกับไวรรัสสายพันธุ์ใหม่ในบราซิล
แต่บราซิลกำลังประสบภาวะยากลำบากในการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับจำนวนประชากรในประเทศ เนื่องจากทั่วโลกมีการแย่งซื้อวัคซีน โดยจนถึงตอนนี้ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำสัญญากับสองซัพพลายเออร์เท่านั้น ได้รับวัคซีนมาเพียง 16 ล้านโดส