แผ่นดินไหวเขย่าญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 14 ก.พ.มีการระงับบริการรถไฟทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น หลังมีผู้บาดเจ็บกว่า 100 รายจากเหตุแผ่นดินไหวที่ดูจะเป็นอาฟเตอร์ช็อกจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเมื่อ 10 ปีก่อน
เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.3 แมกนิจูดเกิดขึ้นก่อนเวลาเที่ยงคืนวันที่ 13 ก.พ. และทำให้กำแพงพัง กระจากหน้าต่างแตก และมีดินถล่มในฟุกุชิมะ ในพื้นที่ใกล้กับศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว
สำนักอุตุนิยมวิทยาระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เชื่อว่าเป็นอาฟเตอร์ช็อกของเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 9.0 แมกนิจูดเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 ที่ส่งผลให้เกิดสึนามิ และเกิดอุบัติเหตุกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 25 ปี ทางหน่วยงานเตือนว่า อาจมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นได้หลายวัน
โดยแผ่นดินไหวเขย่าอาคารจำนวนมากในกรุงโตเกียว ที่อยู่ห่างออกไปหลายร้อยกม.แม้หลายแสนอาคารจะไม่มีไฟฟ้าใช้หลังแผ่นดินไหว ซึ่งเกิดขึ้นในเวลา 23.08 น. ตามเวลาท้องถิ่น แต่ในเช้าวันที่ 14 ก.พ. พื้นที่ส่วนใหญ่ก็กลับมามีไฟฟ้าใช้อีกครั้ง
ขณะที่หลายพันครัวเรือนยังคงไม่มีน้ำใช้ ทำให้ประชาชนต้องเข้าแถวนำภาชนะมารับน้ำแจกจากรถบรรทุกน้ำของทางการ
แต่เหตุไฟฟ้าดับไม่กระทบกับวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ – ไบโอเอ็นเทคที่ถูกจัดส่งมาถึงในวันที่ 12 ก.พ.เพื่อเริ่มฉีดในสัปดาห์นี้ จากถ้อยแถลงของคัตสึโนบุ คาโตะ หัวหน้าเลขาครม.ในการแถลงข่าวเช้าวันที่ 14 ก.พ.
สถานีโทรทัศน์ NHK รายงานว่า มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 104 ราย รวมทั้งผู้บาดเจ็บสาหัสหลายราย แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ไม่มีเหตุสึนามิ และไม่มีรายงานความผิดปกติที่โรงงานนิวเคลียร์ โดยสื่อรายงานว่า มีน้ำประมาณ 160 มิลลิลิตรรั่วออกมาจากบ่อเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ได-นิ แต่ไม่มีสัญญาณอันตราย
เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้หวนนึกถึงแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงในปี 2554 ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้างตามชายฝั่งแปซิฟิก และคร่าชีวิตประชาชนไปเกือบ 20,000 คน
มีการระงับบริการรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นที่มุ่งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีความเสียหายตามรางรถไฟ และคาดการณ์ว่าจะยังไม่เปิดให้บริการก่อนวันที่ 16 ก.พ.นี้
แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในญี่ปุ่น โดยเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นคิดเป็นประมาณ 20% ของเหตุแผ่นดินไหวในโลกที่มีความรุนแรงระดับ 6 แมกนิจูดขึ้นไป