ประธานโตเกียวโอลิมปิกลาออก หลังพูดเหยียดเพศ
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. โยชิโร โมริ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิกลาออก หลังจากเขาแสดงความเห็นเหยียดเพศที่ตีความได้ว่าผู้หญิงพูดมากเกินไป
“ วันนี้ ผมขอลาออกจากตำแหน่งประธาน” เขาระบุในการประชุมบอร์ดผู้บริหารและสภาโอลิมปิก โดยคาดการณ์ว่าทางบอร์ดจะคัดเลือกผู้รับตำแหน่งต่อจากเขาในเวลาต่อมา
โมริออกจากตำแหน่งหลังจากมีเสียงวิจารณ์เขานานกว่าสัปดาห์เกี่ยวกับคำพูดของเขา โดยในช่วงแรก เขาขอโทษแต่ปฏิเสธที่จะออกจากตำแหน่ง หลังจากนั้นก็มีการกดดันเขาให้ลาออก ทั้งจากคนดังทางโทรทัศน์ สปอนเซอร์ และมีประชาชนลงชื่อทางออนไลน์ถึง 150,000 คนเพื่อกดดันเขาด้วย
แต่ไม่มีความชัดเจนว่า การลาออกของเขาจะเป็นการแก้ไขสถานการณ์ และกลับมาให้ความสำคัญว่า กรุงโตเกียวจะสามารถจัดการแข่งขันโอลิมปิกได้หรือไม่ในเวลา 5 เดือนกว่าที่เหลือท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19
การแข่งขันโอลิมปิกมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 ก.ค. ปีนี้ โดยมีนักกีฬาประมาณ 11,000 คน และนักกีฬาพาราลิมปิกอีกประมาณ 4,400 คนในการแข่งขันพาราลิมปิกหลังจากนั้นหนึ่งเดือน โดยประมาณ 80% ของโพลล์ในญี่ปุ่นระบุว่า อยากให้ยกเลิกการแข่งขัน และประมาณ 15% อยากให้เลื่อนการแข่งขันออกไป
รายงานก่อนหน้านี้ระบุว่า โมริในวัย 83 ปี ได้เลือกซาบุโร คาวาบูจิ วัย 84 ปี ซึ่งเป็นอดีตประธานสมาคมฟุตบอลและอดีตผู้เล่นฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นในโอลิมปิกปี 2507 ให้รับตำแหน่งต่อจากเขา
คาวาบูจิมีอายุมากกว่าโมริ และทำให้เกิดประเด็นว่าทำไมผู้หญิงจึงไม่ได้รับเลือก การคัดสรรของโมริทำให้เกิดการถกเถียงกันเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศในญี่ปุ่น และผู้หญิงไม่มีตำแหน่งทั้งในบอร์ดบริหาร การเมือง และการกีฬา และผู้หญิงยังไม่มีบทบาทผู้นำในคณะกรรมการจัดงานด้วย
เมื่อวันที่ 11 ก.พ.คาวาบูจิระบุว่าเขาได้ติดต่อกับโมริ แต่ต่อมาเขาออกตัวว่าเขาอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสม
สื่อญี่ปุ่นชี้ว่า มีตัวเลือกที่เป็นผู้หญิงซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วน 3 คน โดยทุกคนเป็นอดีตนักกีฬาโอลิมปิกและอายุน้อยกว่า สามารถทำงานในตำแหน่งนี้ได้ดี
โดย คาโอริ ยามากูจิ เป็นนักกีฬายูโดที่ชนะเหรียญทองแดงในโอลิมปิกปี 2531 ขณะที่มิคาโกะ โคทานิได้เหรียญทองแดงจากกีฬาระบำใต้น้ำในโอลิมปิกปีเดียวกัน และนาโอโกะ ทาคาฮาชิ ชนะเหรียญทองจากการแข่งวิ่งมาราธอนในโอลิมปิกปี 2543
ทั้งนี้ เซโกะ ฮาชิโมโตะ รมว.โอลิมปิกคนปัจจุบันและอดีตนักกีฬาโอลิมปิก ก็ถูกพูดถึงว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมเช่นกัน
ความเห็นของโมริทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าญี่ปุ่นล้าหลังประเทศพัฒนาอื่นๆ เพราะไม่มีผู้หญิงโดดเด่นทางการเมืองและบอร์ดบริหาร โดยญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 121 จาก 153 อันดับด้านความเท่าเทียมทางเพศของ World Econoic Forum
แม้มีเสียงเรียกร้องมากมายให้โมริลาออก แต่บุคคลสำคัญส่วนใหญ่ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ สุงะกลับนิ่งเฉย มีแต่ความเห็นของอาคิโอะ โตโยดะ ประธานบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ที่แตกต่างออกไป
โตโยต้าเป็นหนึ่งในสปอนเซอร์รายใหญ่ของโอลิมปิกที่จ่ายเงินสนับสนุนให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากลประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทุก 4 ปี ตามปกติแล้ว โตโยต้าไม่ค่อยออกความเห็นเรื่องการเมือง และโตโยต้าไม่ได้เรียกร้องให้โมริลาออก แต่แสดงความเห็นว่า
“ ความเห็น (ของโมริ) นั้นแตกต่างจากคุณค่าของเรา และเรารู้สึกว่า น่าเสียใจมาก”