ทั่วโลกพร้อมใจฉลองวันอีโมจิ
ตึกเอ็มไพร์ สเตท ในนิวยอร์ค เตรียมเปิดไฟสีเหลืองเพื่อเป็นเครื่องหมายที่เหล่าผู้จัดงานหวังว่าจะช่วยสร้างรอยยิ้มบนหลายล้านใบหน้า
ถือเป็นหนึ่งในแผนเนื่องในวันอีโมจิโลก หรือก็คือสัญลักษณ์สีสันสดใสที่ใช้แทนข้อความ ซึ่งเฉลิมฉลองกันในวันที่ 17 ก.ค.
ด้านโรยัล โอเปร่า เฮาส์ในลอนดอน จะทำการแสดงเกี่ยวกับโอเปร่า และบัลเลต์ที่เป็นที่รู้จักทั้งหมด 20 การแสดงผ่านอีโมจิที่รู้จักกันในออนไลน์
ปัจจุบัน รายชื่อมาตรฐานยูนิโค้ด ระบุว่ามีอีโมจิอยู่ทั้งหมด 2,666 อีโมจิ
สมาคมของยูนิโค้ดได้สร้างข้อตกลงเกี่ยวกับอีโมจิและตัดสินใจว่าอีโมจิใดควรได้รับการเผยแพร่ให้ใช้งาน แต่บริษัทบางแห่งอย่างแอปเปิล และกูเกิล จะได้รับสิทธิ์ให้สร้างสรรค์อีโมจิได้อย่างเป็นอิสระ
ในปีนี้ ทางทวิตเตอร์เองก็คาดว่าจะระดมความคิดและผลิตอีโมจิส่วนตัวใหม่ ๆ ออกมาเพิ่มเติม
ผู้กำหนดวันอีโมจิโลกคือนายเจเรมี เบิร์จ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมยูนิโค้ด ระบุว่า ทางสมาคมต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณาอีโมจิใหม่ ๆ ให้กับหลายร้อยโปรแกรมเป็นประจำทุกปี
เขาระบุว่า “คุณจะลัดขั้นตอนการตรวจสอบอีโมจิไม่ได้ เพราะนั่นจะทำให้เหล่าบริษัทอื่น ๆ ไม่พอใจ”
“คุณจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ จะต้องมีดีมานด์ในการใช้เหล่าอีโมจินั้น ๆ ถ้าแค่แบรนด์หรือโลโก้ถือว่าไม่ได้รับอนุญาต”
อีโมจิที่ได้รับการตรวจสอบและเพิ่มเข้าสู่รายชื่อ มีทั้งอีโมจิคนที่มีสีผิวให้เลือกมากยิ่งขึ้น รวมถึงธงไขว้ของสก็อตแลนด์ ซึ่งจะมีการใช้ในคีย์บอร์ดสมาร์ทโฟนอีกด้วย
ดาราดังบางรายอย่างคิม คาเดเชียน และ จัสติน บีเบอร์ ก็มีอีโมจิเป็นของตัวเองโดยแฟน ๆ สามารถเลือกซื้อเพื่อนำมาใช้งานได้ แต่นายเบิร์จ ระบุว่า ผู้ซื้อพึงระลึกไว้ว่าอีโมจิเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดอยู่
“คิมโมจิ และ จัสโมจิ เป็นเพียงสติกเกอร์ อีโมจิทั้งสองไม่สามารถใช้งานบนทุกแอปพลิเคชั่นได้ คุณจำเป็นต้องดาวน์โหลดมัน เพราะมันจะไม่ได้มาพร้อมกับมือถือของคุณ”
อีโมจิเริ่มมีให้ใช้งานราว ๆ ปี 2533 เป็นต้นมา และแอปเปิลเป็นเจ้าแรกที่ได้นำอีโมจิมาใช้บนคีย์บอร์ดของไอโฟนในปี 2554
วันอีโมจิโลกเริ่มเฉลิมฉลองครั้งแรกในปี 2557 วันที่ 17 ก.ค. เนื่องจากเป็นวันที่ที่ปรากฏบนอีโมจิรูปปฏิทินนั่นเอง
นายเบิร์จ ผู้ซึ่งทำงานให้กับอีโมจิพีเดีย หรือเครื่องมือการค้นหาอีโมจิ ระบุว่า เขาไม่ต้องการเงินสนับสนุนใด ๆ ในการจัดงานฉลองนี้
อ้างอิงจากข้อมูลของบริษัทสวิฟต์คีย์ บริษัทคีย์บอร์ดดิจิทัลระบุว่า อีโมจิที่ใช้งานมากที่สุดในปี 2559 คือ ใบหน้าร้องไห้พร้อมกับหัวเราะไปด้วย อันดับ 2 คือใบหน้าที่กำลังส่งจูบ และอันดับ 3 คือใบหน้าที่มีตาเป็นรูปหัวใจสีแดง
ทางบริษัทระบุว่า สวิฟต์คีย์จำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลถึง 400 ล้านบิทจาก “ข้อมูลอีโมจิ”.