เกาหลีใต้ผงาดขึ้นแท่นผู้นำนวัตกรรมโลก
เกาหลีใต้หวนกลับมาครองอันดับ 1 ในดัชนีนวัตกรรมล่าสุดของบลูมเบิร์ก ขณะที่สหรัฐฯร่วงหลุดจาก 10 อันดับแรก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศในยุโรป
โดยเกาหลีใต้กลับมาแย่งมงกุฎจากเยอรมนี ซึ่งหล่นไปอยู่อันดับ 4 แทน ทั้งนี้ เกาหลีใต้ครองอันดับ 1 ของดัชนีถึง 7 ปีจาก 9 ปีที่มีการเผยแพร่ดัชนีนี้
ขณะที่สิงคโปร์และสวิตเซอร์แลนด์ต่างขยับขึ้นมาคนละหนึ่งอันดับมาครองอันดับ 2 และ 3
ดัชนีบลูมเบิร์กวิเคราะห์หลายสิบเกณฑ์ที่ใช้มาตรวัดเดียวกัน 7 ข้อ รวมทั้งการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) , ความสามารถในการผลิต และจำนวนของบริษัทไฮเทค
อันดับในปี 2564 สะท้อนให้เห็นถึงโลกที่ต้องต่อสู้กับโควิด-19 ที่นำพาให้นวัตกรรมมีความสำคัญ ทั้งในส่วนความพยายามของรัฐบาลที่จะควบคุมการแพร่ระบาดไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทำให้หลายประเทศทุ่มเททำงาน และแข่งขันกันพัฒนาวัคซีนจนประสบความสำเร็จ
“ ในปีของโควิด-19 และเผชิญกับความฉุกเฉินของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความสำคัญของนวัตกรรมพื้นฐานเป็นสิ่งเดียวที่เพิ่มขึ้น” แคทเธอรีน มานน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โลกของ Citigroup ระบุ
“นวัตกรรมวัดกันด้วยไอเดียใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ และบริการใหม่” เธอกล่าว แต่ความแพร่หลายและการยอมรับ เป็นดัวชี้วัดความสำเร็จที่แท้จริง
ข้อมูลส่วนใหญ่ของบลูมเบิร์กรวบรวมก่อนวิกฤตโควิด-19 แต่ชัดเจนว่าหลายประเทศที่มีอันดับสูงในดัชนี เช่น เกาหลีใต้ เยอรมนีและอิสราเอล เป็นผู้นำโลกในส่วนของการต่อสู้กับโรคระบาด ทั้งในการสอบสวนโรคและการฉีดวัคซีนที่รวดเร็ว ขณะที่ในสหรัฐฯ ซูม วีดีโอประชุมออนไลน์ หรือผู้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์ เป็นนวัตกรรมที่โดดเด่นในปีที่แล้ว สะท้อนว่าสหรัฐฯได้คะแนนสูงในส่วนที่มีบริษัทไฮเทคอยู่เป็นจำนวนมาก
สำหรับเกาหลีใต้ ที่กลับมาทวงบัลลังก์แชมป์ได้เพราะมีสิทธิบัตรมากขึ้น รวมถึงการวิจัยและพัฒนาและการผลิต
โดย ศ.อีคยองมุก อาจารย์ด้านการจัดการธุรกิจจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลระบุว่า มีความเห็นพ้องกันเป็นส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้ว่า “ R&D สำคัญ” กับการสร้างอนาคต
อันดับ 2 คือสิงคโปร์ ซึ่งมีกองทุนงบประมาณเพื่อช่วยแรงงานและบริษัทในการเปลี่ยนผ่านเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และยังได้คะแนนสูงในด้านการผลิต และมหาวิทยาลัยที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลกทำให้สิงคโปร์ได้คะแนนสูงสุดด้านการศึกษา
ทั้งนี้ สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศผู้นำในด้านการเงินและเทคโนโลยีชีวภาพ ขึ้นนำทั้งสองประเภทของดัชนี
เยอรมนีเสียแชมป์ หลังจากเมื่อสองปีก่อนมีคำเตือนจากเจอร์เกน มิเชลส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ Bayerische Landesbank ที่กล่าวว่าเยอรมนีขาดแรงงานมีทักษะและยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับเทคโนโลยีในยุคหน้า
ขณะที่สองประเทศมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุด ทั้งสหรัฐฯและจีนมีนวัตกรรมระดับโลกจำนวนมาก แต่อันดับก็ปรับลดลงในปีนี้ โดยสหรัฐฯ ซึ่งเคยครองอันดับ 1 ในดัชนีนวัตกรรมของบลูมเบิร์กครั้งแรกในปี 2556 หล่นลงมาอยู่ที่ 11 ในรายงานปีที่แล้ว คณะกรรมการวิทยาศาสตร์แห่งชาติพบว่า “ ครั้งหนึ่งที่สหรัฐฯ เคยเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมโดยไม่มีใครโต้แย้ง แต่ตอนนี้เรากำลังมีบทบาทน้อยลง”
สหรัฐฯได้คะแนนลดลงด้านการศึกษา แม้มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯจะมีชื่อเสียงในระดับโลก โดยคะแนนลดลงมาจากนโยบายกีดกันวีซ่าของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กลายเป็นอุปสรรคของนักศึกษาต่างชาติ ( ซึ่งมักมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ) และต่อมาคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
อันดับ 1 – 10 ในดัชนีนวัตกรรมของบลูมเบิร์กคือ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก อิสราเอล ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย และสหรัฐฯอยู่ในอันดับ 11