ฝรั่งเศสเร่งช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
นายเอดูอาร์ด ฟิลิปเป นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสระบุเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ว่า ตอนนี้ฝรั่งเศสเตรียมลดระยะเวลาการดำเนินการขอลี้ภัยรวมถึงเร่งหาที่พักอาศัยให้กับผู้ลี้ภัย ขณะเดียวกันก็จะทำการเนรเทศแรงงานผิดกฎหมาย “อย่างเป็นระบบ” อีกด้วย
นายกฯ ฟิลิปเประบุว่า ยังไม่มีการเปิดเผย “แผนปฎิบัติการ” ในครั้งนี้ โดยฝรั่งเศสต้องรับมือกับผู้คนหลายหมื่นรายที่เดินทางมายังฝรั่งเศสในแต่ละปี แต่ทางฝรั่งเศสมุ่งมั่นว่า “จะรับประกันสิทธิในการลี้ภัยและจัดการกับการอพยพได้ดีขึ้น”
ในปีก่อน ฝรั่งเศสรับช่วยเหลือผู้อพยพทั้งหมดจำนวน 85,000 ราย โดยขณะนี้ฝรั่งเศสต้องต่อสู้กับระบบที่นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส อธิบายไว้ว่า “กำลังล้มเหลว”
ฝรั่งเศสตกอยู่ภายใต้คำวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเนื่องจากองค์กรการกุศลที่ไม่สามารถจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้อพยพได้ ทำให้ค่ายผู้อพยพในบริเวณทางตอนเหนือของฝรั่งเศสและรอบกรุงปารีสนั้นแร้นแค้นมาก
เจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือและผู้มีบทบาทในด้านนี้รายหนึ่งเข้าร่วมในที่ประชุมพร้อมกับกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวในสัปดาห์ก่อน โดยล่าสุดเขาระบุว่า เขากังวลเกี่ยวกับ “มาตรการการแข็งข้อเพื่อขับไล่ผู้อพยพ” ในแผนการที่ได้ประกาศมาเมื่อวันที่ 12 ก.ค.
เขาระบุว่า มีผู้ที่ต้องการที่ลี้ภัยมากและผู้อพยพที่ไม่สามารถอาศัยลี้ภัยได้มากถึง 40% โดยขณะนี้มีที่อาศัยให้ผู้ลี้ภัยทั้งหมด 80,000 หลัง และจะมีที่ลี้ภัยมากขึ้นถึง 12,500 แห่งภายในปี 2561-2562
นายฟิลิปเประบุว่า แผนดังกล่าวมีการเรียกร้องให้หน่วยงานต่าง ๆ เห็นพ้องและอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ลดระยะเวลาการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ขอลี้ภัยจาก 14 เดือนให้เหลือเพียง 6 เดือน
เขาระบุว่า สำหรับผู้ลี้ภัยที่ถูกปฎิเสธจะถูกส่งตัวออกไป “อย่างเป็นระบบ” โดยเขาเสริมอีกว่ากรอบกฎหมายการปฎิบัติกับผู้ถูกกักกันในระหว่างการขับไล่จะมีการ “กำหนดใหม่” และร่างให้เป็นส่วนหนึ่งกับกฎหมายที่จะนำมาใช้ในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้
ผู้อพยพเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในยุโรปในปี 2558 โดยมุ่งเข้าสู่ประเทศกรีซเป็นส่วนใหญ่ ผู้อพยพจำนวนมากต้องหนีภัยสงครามและความยากจนในตะวันออกกลางและอัฟกานิสถาน โดยเดินทางข้ามประเทศมาจากตุรกีอีกด้วย
วิกฤตการณ์นี้ค่อย ๆ ชะลอตัวลงในปี 2559 หลังจากมีข้อตกลงกับประเทศตุรกีในการปราบปรามการข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ก็กลับมีการไหลทะลักของผู้อพยพอีกครั้ง โดยมุ่งหน้าข้ามทะเลจากลิเบียไปที่อิตาลี โดยผู้อพยพส่วนใหญ่มาจากทะเลทรายซาฮารา แอฟริกา.