วิกฤตผูัอพยพในอิตาลี
อิตาลีต้องการความช่วยเหลือมากขึ้นในการรับมือกับปัญหาผู้อพยพที่เดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาจากแอฟริกา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติรายงาน
“ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าเราในอิตาลีคือโศกนาฏกรรมอย่างแท้จริง เรื่องนี้ไม่ควรเป็นปัญหาของชาวอิตาเลียนเพียงลำพัง ” ฟิลิปโป กรันดีกล่าว
โดยอิตาลีเคยออกโรงขู่ให้เรือสินค้าจากประเทศอื่นหยุดนำผู้อพยพมาที่ท่าเรือของอิตาลี และได้เตือนสหภาพยุโรปว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. Dimitris Avramopoulos คณะกรรมาธิการการอพยพของสหภาพยุโรปได้สัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่อิตาลีให้มากกว่านี้ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกของอียูแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในปัญหาผู้อพยพ
รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลีมีกำหนดจะพูดคุยในประเด็นนี้ในการประชุมที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา
นายกรันดี ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งผู้ลี้ภัยระดับสูงของสหประชาชาติกล่าวว่า แค่สัปดาห์ที่แล้วเพียงสัปดาห์เดียว มีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยมากถึง 12,600 คนที่เดินทางมาถึงอิตาลี
เขากล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นมา ในอิตาลีมีจำนวนผู้อพยพทางทะเลมากถึง 83,650 คนเพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559
มีการประเมินกันว่ามีผู้อพยพต้องเสียชีวิตในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสูงถึง 2,030 คนแล้วในปีนี้
ทั้งนี้ จำนวนผู้อพยพส่วนใหญ่เดินทางมาอิตาลีผ่านทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจากประเทศลิเบีย โดยลิเบียเป็นเหมือนประตูสู่ยุโรปสำหรับผู้อพยพจากทะเลทรายซาฮารา คาบสมุทรอาหรับ อียิปต์ ซีเรียและบังคลาเทศ โดยผู้อพยพเหล่านี้ต้องเดินทางหลบหนีจากภัยสงคราม ความยากจน และการถูกไล่ทำร้ายและสังหาร
UNHCR รายงานว่าในบรรดาผู้อพยพในอิตาลี มีจำนวนมากเป็นเด็กที่ไม่มีครอบครัว หรือเหยื่อจากการทารุณทางเพศ หรือ ความรุนแรงบนฐานเพศภาวะ
หมายเหตุ ทางสำนักข่าวบีบีซี ใช้คำว่าผู้อพยพแทนประชาชนที่อยู่ในระหว่างการเดินทางเพื่อหาประเทศที่พักพิงแห่งใหม่ โดยคนกลุ่มนี้ยังรวมถึงผู้คนที่หลบหนีจากภัยสงคราม เช่น ซีเรีย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงประชาชนที่เดินทางออกจากประเทศตัวเองเพื่อหางานและชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศมองว่าเป็นผู้อพยพทางเศรษฐกิจ.