ญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉิน 4 จังหวัดถึง 7 ก.พ.
โตเกียว – เมื่อวันที่ 7 ม.ค. นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะแห่งญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่กรุงโตเกียวและ 3 จังหวัดใกล้เคียงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยประกาศภาวะฉุกเฉินจะมีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. – 7 ก.พ. จากถ้อยแถลงของเขาก่อนการประชุมคณะทำงานในการรับมือสถานการณ์โควิด-19 โดยในวันนี้ กรุงโตเกียวรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่สูงทุบสถิติถึง 2,447 ราย
รมว.เศรษฐกิจ ยาสุโทชิ นิชิมูระระบุว่า มีการอนุมัติข้อเสนอให้ประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่ 8 ม.ค. – 7 ก.พ.ในการประชุมช่วงเช้า
คำสั่งนี้จะทำให้รัฐบาลมีมาตรการเข้มงวดยิ่งขึ้นในการควบคุมการแพร่เชื้อในบาร์และร้านอาหาร ในพื้นที่เมืองหลวงซึ่งมีความเสี่ยงสูง
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในญี่ปุ่นจะรุนแรงน้อยกว่าหลายประเทศทั่วโลก แต่ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อรายวันสูงเกิน 6,000 รายเป็นครั้งแรกในวันที่ 6 ม.ค.
นายกฯซูงะ จะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในเวลา 18.00 น.เพื่อประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่กรุงโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียงคือจ.ไซตามะ คานางาวะ และชิบะ
แต่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระบุว่า พวกเขากลัวว่าแผนของรัฐบาลอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ
รัฐบาลมีการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในสัปดาห์นี้เพื่อปรึกษาเรื่องการดำเนินการเพื่อควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ได้ แต่สร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด
รมว.นิชิมุระกล่าวเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ว่า มาตรการคุมเข้มที่รวมอยู่ในประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่ 8 ม.ค.คือ การขอให้ร้านอาหารและบาร์ปิดบริการในเวลา 20.00 น. และขอให้ประชาชนไม่ออกจากบ้านหากไม่มีเหตุจำเป็น และจำกัดจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬาและงานอีเวนต์ต่างๆไว้ไม่เกิน 5,000 คน
ทั้งนี้ กรุงโตเกียวและอีก 3 จังหวัดที่อยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉินมีจำนวนร้านอาหารและบาร์ประมาณ 150,000 แห่ง
โดยนายกฯซูงะระบุว่า การลดเวลาให้บริการของธุรกิจช่วยให้หลายจังหวัดมีตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่นในโอซาก้าและฮอกไกโด
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณที่น่ากังวลคือในวันที่ 6 ม.ค. โอซาก้ากลับมีผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงทุบสถิติถึง 560 ราย ขณะที่ฮอกไกโดมีผู้ติดเชื้อเกิน 100 รายเป็นครั้งแรกในรอบสัปดาห์
“จากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในตอนนี้ เราอาจจำเป็นต้องคิดเรื่องการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ” ดร.โทชิโอะ นาคากาวา ประธานสมาคมแพทย์ญี่ปุ่นกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 ม.ค.
จากการประเมินของฮิโรชิ นิชิอุระ นักวิทยาศาสตร์ประจำม.เกียวโต ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันในกรุงโตเกียวอาจสูงถึง 3,500 รายต่อวันในเดือนก.พ. และสูงถึง 7,000 รายต่อวันในเดือนมี.ค. หากไม่มีมาตรการคุมเข้มใหม่
โดยเขาระบุว่า คำประกาศควรมีผลบังคับใช้อย่างน้อย 2 เดือนเพื่อทำให้การติดเชื้อลดลงมาอยู่ในระดับที่จัดการได้
สื่อในประเทศรายงานว่า รัฐบาลควรปรับจำนวนเงินชดเชยเยียวยาสำหรับธุรกิจร้านอาหารเป็น 60,000 เยน (ราว17,380 บาท) ต่อวัน จากเดิม 40,000 เยน ( ราว 11,590 บาท) ต่อวัน
นักวิเคราะห์ระบุว่า ประกาศภาวะฉุกเฉินรอบใหม่จะทำให้เศรษฐกิจติดลบในไตรมาสแรก ตรงข้ามกับตัวเลขคาดการณ์เดิมของโพลจากรอยเตอร์ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้วที่ชี้ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวเติบโต 2.1%