อินเดียอนุมัติวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ
นิวเดลี : เมื่อวันที่ 3 ม.ค. อินเดียประกาศอนุมัติรับรองวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ชื่อ Covaxin ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทในประเทศคือภารัดไบโอเทค แต่ถูกตั้งคำถามเรื่องข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีน
โดยข่าวนี้ ซึ่งมีการประกาศโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลของอินเดียคือ DCGI ได้รับการชื่นชมยกย่องจากนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ และบรรดารัฐมนตรีว่าเป็นความสำเร็จในการผลักดันให้อินเดียสามารถพึ่งพาตนเองได้
รัฐบาลอินเดียยังได้อนุมัติการใช้วัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนกาและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นวัคซีนหลักในโครงการฉีดวัคซีนของอินเดียจนกว่าจะมีการอนุมัติวัคซีนตัวอื่นๆ
Covaxin ได้รับการพัฒนาร่วมกับสถาบันของรัฐและหมายความว่าอินเดียกลายเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มเล็กๆที่ได้อนุมัติวัคซีนต้านโควิด-19 ของประเทศตัวเอง
บริษัทภารัตเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทพัฒนายาโอคิวเจนเพื่อร่วมกันพัฒนาสำหรับตลาดสหรัฐฯ และบราซิลได้ลงนามในหนังสือที่แสดงเจตจำนง ซึ่งไม่มีผลผูกพันเพื่อสั่งจองซื้อวัคซีน โดยบริษัทระบุว่า มีการพูดคุยกับอีกสิบกว่าประเทศเกี่ยวกับวัคซีน Covaxin
Covaxin มีการพัฒนาด้วยช่องทางฟาสต์แทร็ก ทำให้มีการพัฒนาได้เร็วกว่าวัคซีนตัวอื่นๆในอินเดีย บริษัทระบุในเดือนพ.ย.ปีที่แล้วว่า มีแนวโน้มจะเปิดตัววัคซีนในไตรมาส 2 ของปี 2564 ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ภาครัฐชี้ว่าอาจขยับเร็วขึ้นเป็นเดือนก.พ. หรือเดือนมี.ค.
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ชาชี ธารัวร์ ส.ส.ฝ่ายค้านและอดีตรัฐมนตรีตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสในการอนุมัติรับรองวัคซีน
“มีการอนุมัติวัคซีนเร็วเกินไป และอาจเป็นอันตราย” เขาถามไปที่ฮาร์ช วาร์ธาน รมว.สาธารณสุขเพื่อขอคำอธิบายในเรื่องนี้
“ยังไม่ควรใช้วัคซีนตัวนี้จนกว่าการทดสอบจะจบลงอย่างสมบูรณ์ อินเดียสามารถเริ่มใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกาไปได้ก่อนในขณะนี้”
รมว.วาร์ธานขอให้ชาวอินเดียเชื่อว่า มีการปฏิบัติตามโปรโตคอลอย่างเข้มงวดเพื่อให้แน่ใจถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองตัวที่ผ่านการอนุมัติรับรอง
ในการทดสอบครั้งใหญ่ที่สุดในอินเดีย บริษัทภารัตไบโอเทคระบุว่า มีอาสาสมัครถึง 23,000 คนจากเป้าหมายเดิม 26,000 คนที่เข้าร่วมในการทดสอบวัคซีน Covaxin ในระยะ 3 ที่เริ่มขึ้นในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว