เอเชียสัญญาจะกำจัดพลาสติกในทะเล
หลายชาติในเอเชียที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบกับมลพิษที่เกิดในมหาสมุทรของโลกร่วมกันได้ให้สัญญาจะเริ่มกำจัดพลาสติกอย่างจริงจัง
ในการประชุมมหาสมุทรของสหประชาชาติ ผู้แทนจากจีน ประเทศไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์แถลงว่าจะทำงานเพื่อกำจัดพลาสติกให้หมดไปจากทะเล
คำสัญญายังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ และนักสิ่งแวดล้อมกล่าวว่ามาตรการที่นำเสนอยังไม่เร่งด่วนเพียงพอ
จากการประชุมในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ ผู้แทนจากหลายชาติกล่าวว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของการกำจัดมลพิษทางทะเลในระดับนานาชาติที่ชัดเจน
Eric Solheim ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมของยูเอ็นกล่าวกับสื่อบีบีซีว่า “ เป็นสัญญาณที่ดี ที่หลายชาติให้ความสำคัญกับปัญหาในทะเลอย่างจริงจัง แน่นอนว่า คงเป็นหนทางที่ต้องใช้เวลานานที่จะไปถึง เพราะปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ”
มีการประเมินว่าปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 5-13 ล้านตันที่สะสมอยู่ในมหาสมุทรในแต่ละปี โดยส่วนมากนกและปลาจะกลืนกินขยะพวกนี้เข้าไป และขยะพลาสติกจำนวนมากก็จมลงสู่ก้นทะเล
รายงานปัจจุบันระบุว่า ขยะพลาสติกในทะเลมีต้นกำเนิดที่ห่างไกลจากทะเล โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยมได้รวดเร็วกว่าความสามารถในการกำจัดขยะของประเทศ
The Helmholtz Centre ใน Leipzig ประเทศเยอรมนีประเมินว่า 75% ของมลพิษทางทะเลที่เกิดจากบนบกมาจากแม่น้ำเพียง 10 สาย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย
ทั้งนี้ การลดปริมาณขยะในแม่น้ำเหล่านี้ลง 50% จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลลงได้ 37%
Tom Dillon จาก Pew Charitable Trusts ซึ่งมีการรณรงค์การแก้ปัญหามลพิษทางทะเล ได้หนุนให้จีนเริ่มลงมือทำโดยเร็ว
เขากล่าวกับสื่อบีบีซีว่า “ หลายพันปีแล้วที่เส้นทางสายไหมทางทะเลเป็นเส้นทางการส่งออกของวัฒนธรรมและอิทธิพลของจีน หรือมหาสมุทรจะเป็นพาหนะในการส่งออกมลพิษจากจีน หรือควรจะเป็นวัฒนธรรมใหม่ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ”
ในประเทศไทย ประเมินว่ามีปริมาณขยะที่ไหลลงสูทะเลประมาณ 2.83 ล้านตันในปี 2559 ซึ่ง 12% เป็นขยะพลาสติก
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยแถลงว่า ประเทศไทยกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปีในการแก้ปัญหา รวมถึงการพัฒนาสิ่งจูงใจด้านการเงินเพื่อกำจัดพลาสติกออกจากทะเล และสนับสนุนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทดแทนการใช้พลาสติก
ในอินโดนีเซีย รัฐบาลเริ่มให้ความรู้ในวงกว้างกับเด็กๆในโรงเรียน และกำลังมีการพัฒนากฎหมายใหม่ในฟิลิปปินส์.