อพยพนับล้านหนีพายุในบังคลาเทศ
ทางการบังคลาเทศกำลังปฏิบัติการอพยพประชาชนประมาณ 1 ล้านคนออกจากที่อยู่อาศัยก่อนที่พายุไซโคลนที่มีกำลังแรงจะถล่มบังคลาเทศ
กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า พายุไซโคลนโมรา มีแนวโน้มจะเข้าถล่มชายฝั่งตะวันออกของบังคลาเทศในช่วงเช้าของวันที่ 30 พ.ค.
ระบบเตือนภัยของเมืองท่าเรือที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ได้ประกาศเตือนภัยอันตรายสูงสุดระดับ 10 ในขณะที่เมืองท่าเรือชายฝั่งตะวันตกมีการเตือนภัยความรุนแรงในระดับ 8
โดยพายุไซโคลนได้ก่อตัวขึ้นหลังจากมีฝนตกลงมาอย่างหนักในศรีลังกา ซึ่งทำให้มีน้ำท่วมขังและดินถล่ม และภัยธรรมชาติร้ายแรงนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 180 ราย
เหตุน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในรอบ 14 ปีของศรีลังกากระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชนมากกว่า 500,000 คน และยังคงมีผู้สูญหายมากกว่า 100 ราย
ส่วนในบังคลาเทศ ประชาชนในเมืองจิตตะกองเกือบ 500 หลังคาเรือนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนหลังมีประกาศเตือนภัยผ่านเครื่องขยายเสียงในพื้นที่
โรงเรียนและสถานที่ราชการถูกใช้เป็นที่พักชั่วคราวของประชาชน และผู้คนจากพื้นที่บนเขาก็กำลังเร่งรีบอพยพโดยด่วน
โดยกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า พื้นที่ลุ่มต่ำในค็อกซ์ บาซาร์ จิตตะกอง และเมืองตามชายฝั่งมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากคลื่นพายุซัดชายฝั่งสูงประมาณ 1.2 – 1.5 เมตรจากระดับปกติ
อาบุล ฮาชิม โฆษกฝ่ายจัดการภัยพิบัติกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า “ เราตั้งเป้าว่าความเสียหายต้องเป็น 0 และเราจะพยายามอย่างดีที่สุดในการอพยพประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนก่อนที่พายุจะถล่ม ” เขาเสริมว่า ประชาชนเกือบ 300,000 คนได้อพยพไปยังที่พำนักที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว
ถึงแม้ว่าบังคลาเทศจะคุ้นชินกับพายุไซโคลน แต่ประชาชนจำนวนมากยังคงไม่มีที่อยู่อาศัยที่แข็งแรงเพียงพอที่จะต้านทานสภาพอากาศที่เลวร้าย ชีวิตและผลผลิตทางการเกษตรของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบของพายุไซโคลน อ้างอิงจากการรายงานของชาร์ลส์ ฮาวิแลนด์ บรรณาธิการภูมิภาคเอเชียใต้ของสื่อบีบีซี
มีการประกาศเตือนห้ามเรือจับปลาและเรืออวนลากออกจากฝั่ง และเรือเฟอร์รีข้ามฟากต้องงดให้บริการ
ทั้งนี้ บังคลาเทศเพิ่งฟื้นตัวจากเหตุน้ำท่วมฉับพลันทางพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งทำลายผลผลิตสำคัญอย่างข้าว และทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น
คาดการณ์ว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียก็เกิดจากพายุไซโคลนโมราเช่นกัน.