ทรัมป์ตำหนิเยอรมนีด้านการค้า
ในการประชุมกับกลุ่มผู้นำสหภาพยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวโจมตีเยอรมนีว่าเลวร้ายมากด้านการค้า อ้างอิงจากแกรี โคห์น ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดี
“ ประธานาธิบดีทรัมป์ตำหนิเยอรมนีว่าแย่มากในด้านการค้า แต่ท่านไม่ได้มีปัญหากับเยอรมนี ” นายโคห์น กล่าวกับสื่อ ซึ่งเดินทางไปกับประธานาธิบดีทรัมป์เพื่อร่วมประชุมกลุ่มประเทศ G7 ในซิซีลี อิตาลี เมื่อวันที่ 26 พ.ค.
โดยโฆษกหญิงของกระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนีปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกับคำพูดของผู้นำสหรัฐฯ
สื่อของเยอรมนีรายงานว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงกลับมาวิจารณ์เรื่องการเกินดุลการค้าจำนวนมากในการประชุมร่วมกับ Jean-Claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป
แหล่งข่าวซึ่งเข้าร่วมในการประชุมเมื่อวันที่ 25 พ.ค. อย่างนิตยสาร Der Spiegel ของเยอรมนีได้ยกคำพูดของประธานาธิบดีทรัมป์มาลงในหนังสือว่า “ เยอรมนีเลว เลวร้ายมาก ลองดูรถยนต์เยอรมันหลายล้านคันที่ขายในสหรัฐฯสิ เราจะหยุดพวกเขา ”
หนังสือพิมพ์ Sueddeutsche Zeitung ของเยอรมนีรายงานว่า ประธานาธิบดีทรัมป์พูดชัดเจนว่า การลดมูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ เป็นงานลำดับต้นๆ ที่เขาจะทำ
ทั้งนี้ การส่งออกทั่วโลกของเยอรมนีมีมูลค่าสูงถึง 270,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่ายอดนำเข้าในปี 2559 นับเป็นการเกินดุลการค้าที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในทางกลับกัน สหรัฐฯขาดดุลการค้ามากกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ผู้นำสหรัฐฯเชื่อว่า อเมริกากำลังเสียเปรียบในเกมเศรษฐกิจโลก โดยการขาดดุลการค้ากับเยอรมนีเพียงประเทศเดียวก็มีมูลค่าสูงถึง 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2559
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนีได้เข้าร่วมในการประชุม G7 ที่ซิซิลีด้วย แต่ไม่มีกำหนดที่จะหารือกันเป็นการส่วนตัวกับผู้นำสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีทรัมป์เคยตั้งเป้าโจมตีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เยอรมันมาก่อนหน้านี้ จากการให้สัมภาษณ์ในเดือนม.ค.เขากล่าวว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ BMW ตวรพิจารณาทบทวนการสร้างโรงงานในเม็กซิโกอีกครั้ง โรงงานแห่งนี้มีแผนจะผลิตรถยนต์ BMW ซีรีส์ 3 ในปี 2562
“ ผมจะบอกพวกเขา อย่าเสียเงินและเวลาทิ้งไป นอกเสียจากว่า พวกเขาต้องการจะขายรถให้ประเทศอื่นๆ แต่ผมจะบอกกับบริษัท BMW ว่า ถ้าเขาคิดว่าจะสร้างโรงงานและส่งออกรถยนต์มาขายในสหรัฐฯ โดยไม่ต้องจ่ายภาษี 35% มันจะไม่เกิดขึ้นแน่ ”
ทั้งนี้ เยอรมนีโต้แย้งว่า มูลค่าการได้ดุลการค้าที่สูงมากเป็นผลมาจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เขช่น ราคาน้ำมัน และค่าเงินยูโร รวมถึงศักยภาพของภาคเอกชนที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก.
หมายเหตุ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 34.26 บาท / 26 พ.ค. 2560