ชุมชนบ้านบางโรง น้อมนำศาสตร์พระราชา ทางรอดวิกฤตโควิด-19
ชุมชนบ้านบางโรง เป็นตัวอย่างหนึ่งของการน้อมนำหลักการศาสตร์พระราชา มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต
ภูเก็ตปัจจุบันนี้กับในอดีตนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากเมืองที่เคยเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว อร่ามตาด้วยด้วยสีสันแห่งแสงไฟ ปัจจุบันกลับเงียบเชียบ นักท่องเที่ยวบางตา
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จ.ภูเก็ตอย่างจัง ชาวภูเก็ตซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องหยุดงาน ขาดรายได้ และยังไม่ทราบชะตากรรมว่าจะได้กลับไปทำงานและใช้ชีวิตอย่างปกติเมื่อใด
สำนักข่าว AEC10News ติดตามมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต สำรวจวิถีชีวิตของชาวภูเก็ต กับการปรับตัวรับมือสถานการณ์โควิด-19 พร้อมกับการนำ “ศาสตร์พระราชา” มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต
โดยไปกันที่ชุมชนบ้านบางโรง ชุมชนเข้มแข็ง มีการนำองค์ความรู้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ และสร้างสังคมอยู่ดีมีสุข ทำให้ชุมชนมีภูมิคุ้มกันทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน แม้ในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
นายเสบ เกิดทรัพย์ ประธานการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง เล่าให้ฟังว่า เมื่อมีการปิดประเทศ ทำให้ชาวภูเก็ตจำนวนมากต้องตกงาน หลายคนเลือกที่จะเดินทางกลับบ้าน แล้วเลือกประกอบอาชีพประมงตามวิถีชาวบ้าน ซึ่งช่วยให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปได้
นายเสบ ระบุว่า หลายปีก่อน ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนบ้านบางโรงมีสภาพเสื่อมโทรมมาก แต่ภายหลังมีการน้อมนำแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาพัฒนาพื้นที่โดยยึดหลังการพึงพาตัวเอง ซึ่งใช้เวลาไม่นานนัก ก็สามารถฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้
เขา กล่าวว่า หากทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมเหมือนในอดีต จะไม่มีทางช่วยคนตกงานจากสถานการณ์โรควิด-19 ครั้งนี้ได้
“บ้านบางโรงใช้มัสยิดกลางเป็นศูนย์รวมใจนำหลักการทางศาสนาแก้ปัญหาชุมชน ทำความเข้าใจและเรียนรู้การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงผ่านการเทศนาธรรมประจำทุกๆวัน”
ปัจจุบันชุมชนบ้านบางโรง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มีสภาพพื้นที่เป็นปากอ่าวที่อุดมไปด้วยป่าชายเลนที่สมบูรณ์ มีพื้นที่ประมาณ 36 ตารางกิโลเมตร ชาวบ้านบางโรงส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีที่เรียบง่ายตามแบบแผนของชาวมุสลิม มีการประกอบอาชีพหลากหลาย ได้แก่ ทำการเกษตรกรรม ประมงชายฝั่งตามวิถีชีวิตดั้งเดิม ร้านอาหาร การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ กิจกรรมเปิดซุ้มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP เป็นต้น
ชุมชนบ้านบางโรงมีการตั้ง “กลุ่มออมทรัพย์อัลอามานะห์ บ้านบางโรง” ขึ้นในปี 2540 ในที่สุดกลายเป็น“ธนาคารของชุมชน” ที่ให้บริการด้านการเงินแก่คนในชุมชน ทั้งนี้ เมื่อชาวบ้านชุมชนบ้านบางโรงมีแหล่งเงินทุน ผู้นำชุมชน และกรรมการมัสยิดยังคิดและพยายามอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนไปพร้อมๆกันด้วย
ประธานการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง บอกว่า แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของบ้านบางโรงนั้น จะเน้นที่การปลูกจิตสำนึกให้ชาวบ้านตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการคงอยู่ด้านทรัพยากร โดยจะไม่เน้นกิจกรรม เช่น การรวมกลุ่มปลูกป่าชายเลน เพราะไม่ถือเป็นกิจกรรมที่ยั่งยืน แต่เน้นให้คนมีจิตสำนึก แล้วจะค่อยๆช่วยกันรักษาทรัพยากรด้วยตัวเอง
ปัจจุบันชุมชนมีโครงการท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวรูปแบบนี้ เป็นการเที่ยวที่ต่างจากการเที่ยวบริเวณหาดป่าตอง หาดกะตะ หาดราไวย์ ฯลฯ หากแต่เป็นการท่องเที่ยวที่ได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน มีกิจกรรมการวางอวน การตกหมึก การตักปลา ถือเป็นกิจกรรมที่ไม่พบจากพื้นที่อื่นในจังหวัดภูเก็ต
นอกจากนี้แล้ว ยังมีบ้านพักโฮมสเตย์ของชุมชน ร้านอาหารครัวชุมชนซึ่งเป็นอาหารทะเลสดๆจากกระชังเลี้ยงปลา ไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่สนใจมาเรียนรู้
ชุมชนยังมีการจัดค่ายเยาวชนทุกปี แบ่งออกเป็นศาสนาพุทธและอิสลาม มีหลักสูตรท้องถิ่นสอนเด็กในชุมชน สอนแนวพระราชดำริ การทำบัญชีออมทรัพย์
ชุมชนบ้านบางโรง ยังมีธนาคารปูม้า โดย นายสมชาย เชื้อสง่า ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน ธนาคารปูม้า บ้านบางโรง กล่าวว่า ธนาคารปูม้าเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันของชาวชุมนุม โดยเล็งเห็นว่าด้วยทรัพยากรที่เสื่อมโทรม จะเป็นปัญหาต่อการประกอบอาชีพในระยะยาว
ทั้งนี้ การมีธนาคารปูม้ายังช่วยฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าในท้องทะเล นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ ช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปูม้าได้ แม้ออกทะเลไม่ไกลนัก
ชุมชนบ้านบางโรง เป็นตัวอย่างหนึ่งของการน้อมนำหลักการศาสตร์พระราชา มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การพึ่งพาตนเองและหลักการเศรษฐกิจพอเพียง มีความสำคัญต่อชาวชุมชนอย่างมาก
เพราะทั้งการพึ่งพาตนเองและเศรษฐกิจพอเพียงนั้น อยู่บนพื้นฐานความความยั่งยืน