เคาะสูตรกรรมการปรองดอง มาจาก 7 ฝ่าย
ประชุมวิป 3 ฝ่าย เผยโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ 21 คน จาก 7 ฝ่าย เตรียมประสานไปยังกลุ่มต่างๆเพื่อขอให้เข้าร่วม เดินหน้าแก้ปัญหาลดความขัดแย้ง
(24 พ.ย.) นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมวิป 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เพื่อหารือการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ แก้สถานการณ์ความขัดแย้งการชุมนุมทางการเมือง โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เข้าร่วมประชุม
ประธานรัฐสภา กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ขณะนี้ได้รูปแบบโครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์แล้ว ซึ่งทางเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ร่างรูปแบบโครงสร้างเบื้องต้น และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม โดยองค์ประกอบมีทั้งหมด 21 คน
ประกอบด้วย ผู้แทนรัฐบาล 2 คน ผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายรัฐบาล 2 คน ผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายค้าน 2 คน ผู้แทนสมาชิกวุฒิสภา 2 คน ผู้แทนฝ่ายชุมนุม 2 คน ผู้แทนฝ่ายที่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ซึ่งมาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 3 คน ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ 1 คน ที่ประชุมคณะกรรมการอธิบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการสร้างความปรองดองสมานฉันท์
โดยมีนายคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นเลขานุการคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการประสานไปยังกลุ่มต่างๆในการเข้าร่วมคณะกรรมการ หากองค์ประกอบใดที่ไม่เข้าร่วมจะใช้องค์ประกอบเท่าที่มีอยู่ขณะนั้นทำงาน โดยไม่ต้องรอให้ครบทั้งหมด 7 กลุ่ม เมื่อกรรมการเกิดขึ้นแล้วสามารถนัดประชุมได้เลย เบื้องต้นตั้งชื่อคณะกรรมการชุดนี้ว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับที่ประชุมของคณะกรรมการ
ทั้งนี้ พยายามให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม แต่หากฝ่ายใดไม่เข้าร่วมก็ต้องให้เวลาคณะกรรมการในการหารือกัน พร้อมฝากให้โอกาสคณะกรรมการได้ทำงานแก้ปัญหา ลดความขัดแย้ง โดยนำปัญหาในอดีตมาศึกษาและหาทางป้องกันปัญหาในอนาคต ส่วนรูปแบบการปรองดองว่าจะทำอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ส่วนตัวไม่ได้หวังว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนทันทีทันใด แต่คิดว่าเป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายจะได้คุยกันเพื่อร่วมกันหาทางออกของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อไป