ก้าวไกล จี้ ถาม“นายกฯ” ปัดตก พ.ร.บ.เลิกเกณฑ์ทหารทำไม
ก้าวไกล ถาม นายกฯ เหตุไม่รับรองร่างกฎหมายรับราชการทหารฯ ตั้งข้อสังเกต หากมีกำลังพลเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่อีก ใครจะรับผิดชอบ ขณะที่ รมช.กลาโหม ชี้แจง กฎหมายที่เสนออาจส่งผลกระทบการตั้งงบด้านกำลังพลและสวัสดิการ พร้อมยืนยัน กรณีกำลังพลเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้รับชอบเป็นไปตามผลการสอบสวน
เมื่อวันที่ 11 พ.ย.นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กทม. พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี ไม่ลงนามรับรองร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รับราชการทหาร (ฉบับที่..) พ.ศ. ….หลังจากที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล หรือเดิมคือพรรคอนาคตใหม่ พร้อมคณะ ได้ยื่นเสนอผ่านสภาฯ ไปยังรัฐบาลในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นผลให้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจึงตกไปโดยพรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อนายกรัฐมนตรี มีเหตุผลใดจึงไม่ลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหารฯฉบับดังกล่าว และเพราะเหตุใดจึงไม่ส่งเหตุผลประกอบการพิจารณากลับมาให้คณะผู้เสนอร่างกฎหมายได้รับทราบ
นายณัฐชา ยังถามด้วยว่า นายกรัฐมนตรี มีจุดยืนต่อการเกณฑ์ทหารอย่างไรรวมถึงความคืบหน้าแนวทางการปฏิรูปกองทัพให้ดีขึ้น ด้วยการลดขนาดกองทัพให้กะทัดรัดและมีแนวทางที่จะเปิดใช้ระบบอาสาสมัครในการรับราชการทหารเหมือนกับหลายประเทศบ้างหรือไม่ตลอดจน หลังจากนี้ หากมีกำลังพล โดยเฉพาะพลทหาร ได้เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพอีกใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และจะรับผิดชอบอย่างไร
พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจงถึงเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีไม่รับรองร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ว่า เนื่องจากภายหลังนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลผูกพันหรือภาระทางด้านการคลังในอนาคตและส่งผลต่อการตั้งงบประมาณด้านกำลังพลและสวัสดิการภาครัฐที่ต้องให้อย่างเพียงพอตาม พ.ร.บ. ระเบียบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ปี 61 บัญญัติไว้
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีแนวทางการเกณฑ์ทหารในปัจจุบัน ว่า กองทัพได้ใช้แนวทางการสมัครใจและการคัดเลือกแบบผสมผสานกันขณะที่ในส่วนของความคืบหน้าแนวทางการปฏิรูปกองทัพนั้น ขอชี้แจงว่า กองทัพได้มีการปฏิรูปโครงสร้างมาอย่างต่อเนื่องในทุกระดับซึ่งการวางแผนปรับลดกำลังพลให้น้อยลงนั้น กำหนดเป้าหมายว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2572 โดยเหตุผลที่ไม่สามารถปรับลดกำลังพลได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องวางแผนระยะยาว 5-10 ปี เพื่อไม่ให้กระทบกับสิทธิ การปฏิบัติงาน ประสิทธิภาพของกองทัพและเพื่อให้กองทัพมีโครงสร้างและระบบบริหารตัดการที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพนอกจากนี้
ในส่วนการใช้ระบบอาสาสมัครในการรับราชการทหารนั้น ขอชี้แจงว่าในปัจจุบัน มีบางหน่วยในกองทัพได้ใช้ระบบอาสาสมัครในการอยู่แล้ว ซึ่งเหตุที่บางหน่วยต้องใช้ระบบอาสาสมัครเนื่องจากเป็นการปฏิบัติงานที่ใช้ระยะเวลายาวนานและต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีผู้รับผิดชอบ หากมีกำลังพลหรือผู้ใต้บังคับบัญชาได้เสียชีวิตลงจากการปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพโดยยืนยันว่า ผู้บังคับบัญชาโดยตรงในแต่ละระดับจะเป็นผู้รับผิดชอบตามสายการบังคับบัญชาขึ้นอยู่กับผลการสอบสวนว่ามีความประมาทเลินเล่อหรือไม่ หากสอบสวนแล้วพบว่าผู้ใดมีความผิดจริงก็ต้องรับโทษทั้งทางวินัยและอาญา