โพลรัฐ เผย ปชช.อยากให้รัฐช่วยแก้ว่างงานมากที่สุด
ครม.รับทราบผลสำรวจวามคิดเห็นประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาล พึงพอใจมาก-มากที่สุดร้อยละ 33.4 ต้องการให้แก้ปัญหาว่างงานมากที่สุด
(10 พ.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลในปี 2563 ครบ 1 ปี โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศจำนวน 6,970 คนระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนร้อยละ 78.6 ติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล แหล่งที่ติดตามมากที่สุดคือจากโทรทัศน์ร้อยละ 93.7 รองลงมาคือ อินเตอร์เน็ต เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ร้อยละ 50.1
ส่วนความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานของรัฐบาลนั้นพบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก-มากที่สุดร้อยละ 33.4 ในระดับปานกลางร้อยละ 48 โดยนโยบายที่ประชาชนพึงพอใจมาก-มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การแก้ไขปัญหาโควิด-19 โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤตมีสิทธิ์ทุกที่(UCEP) และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
สำหรับเรื่องที่ประชาชนมองว่าเป็นความเดือดร้อนในชุมชนและหมู่บ้านได้แก่ คนในชุมชนว่างงานหรือไม่มีอาชีพที่มั่นคงร้อยละ 29.9 สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 18.7 สินค้าเกษตรราคาตกต่ำร้อยละ18 ภัยธรรมชาติร้อยละ 16.7 และปัญหายาเสพติดร้อยละ 7.3 ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเรียงลำดับดังนี้ ปัญหาการว่างงานร้อยละ 41.2 ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพงร้อยละ 20.4 ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำร้อยละ 19.1 จัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรร้อยละ 11.5 และจัดสวัสดิการของรัฐให้เพียงพอและครอบคลุมทุกพื้นที่ร้อยละ 8.5
ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศในระดับมาก-มากที่สุดร้อยละ 29.8 เชื่อมั่นปานกลางร้อยละ 48.7 และเชื่อมั่นน้อย-น้อยที่สุดร้อยละ 18.4 ไม่เชื่อมั่นเลยร้อยละ 3.1
อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังนี้คือ ควรให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนตกงานหรือว่างงาน เช่น การจ้างงานชั่วคราว การหาตลาดรองรับสินค้าของชุมชน การจัดอบรมวิชาชีพ และควรให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านค่าครองชีพ เช่นการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และการลดค่าสาธารณูปโภค รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการประกอบอาชีพ เช่น แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การหาตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ การพยุงราคาสินค้าเกษตร และการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรสมัยใหม่