เตรียมไว้ 2 รูปแบบ ตั้งกรรมการปรองดอง สมานฉันท์ แก้ม็อบ
ชวน หลีกภัย ถกสถาบันพระปกเกล้า หารือตั้งคณะกรรมการปรองดองสนามฉันท์ เพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง เตรียมไว้ 2 รูปแบบ รอหารือผู้เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่สถาบันพระปกเกล้า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดเผยภายหลังการหารือเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการปรองดองสนามฉันท์ เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองว่า สถาบันพระปกเกล้าได้มีข้อเสนอในการแก้ปัญหาของบ้านเมือง ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปที่หนึ่ง คือ คณะกรรมการสมานฉันท์ จะมีผู้แทนจากทั้ง 7 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ประกอบด้วย ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน ตัวแทนรัฐบาล ตัวแทนวุฒิสภา และตัวแทนขององค์กรอื่นรวมทั้งหมด 7 ฝ่าย ซึ่งหากรูปแบบแรกนี้ มีตัวแทนจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่รับก็จะทำให้องค์ประชุมไม่ครบ เนื่องจากอาจมีความกังวลว่าตัวแทนเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการเป็นฝ่ายรัฐบาล
ส่วนรูปแบบที่สอง คือ คณะกรรมการสมานฉันท์จะมีคนกลางซึ่งมาจากการเสนอโดยฝ่ายต่างๆ หรือประธานรัฐสภาอาจจะเป็นผู้สรรหา หรือประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการ แล้วให้ประธานกรรมการผู้นั้นเป็นผู้ไปสรรหาประธานคณะกรรมการ โดยขณะนี้ ตนยังไม่แน่ใจว่า กรรมการที่สภาฯ จะมีการทาบทามจะรับหน้าที่หรือไม่ ซึ่งต้องการหารือร่วมกันถึงเป้าหมายการทำหน้าที่ดังกล่าวว่าต้องทำงานระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร โดยภาพรวมทั้งสองรูปแบบดังกล่าวต่างก็มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของการทำงานอยู่ด้วยทั้งสิ้น
นายชวน กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจะนี้ ตนจะได้นำ 2 รูปแบบการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอไปประสานกับ 7 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องตามรูปแบบแรก ว่าแต่ละฝ่ายจะมีตัวแทนครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งหากสมมติเป็นไปไม่ได้ก็ต้องดำเนินการในรูปแบบที่สอง ว่าจะดึงรูปแบบแรกมาผสมผสานกับรูปแบบที่สองได้หรือไม่ ที่จะมีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งต้องไปสอบถามแต่ละฝ่ายว่าจะร่วมหรือไม่ รวมถึงบุคคลภายนอกที่เชิญไปนั้นจะมาร่วมหรือไม่ และมีเงื่อนไขว่าจะต้องคัดสรรคนจำนวนไม่มากที่มีศักยภาพเข้าใจปัญหา ที่จะมองเห็นอนาคตของบ้านเมืองว่าจะมีส่วนร่วมในการลดและแก้ปัญหาของบ้านเมืองอย่างไร
คาดว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ อาจออกมาในรูปแบบการผสมผสานระหว่างรูปแบบที่ 1 และรูปแบบที่ 2 แล้วปรับเพื่อให้เป็นรูปแบบเดียว อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (3 พ.ย. 63) หากเป็นไปได้ ตนก็จะได้หารือกับ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลเป็นการภายใน เพื่อเป็นตัวแทนของทั้งสองฝ่าย เพราะเรื่องดังกล่าวทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมถึง ถึงแม้จะไม่อยากร่วมเป็นคณะกรรมการก็ตาม แต่ก็ต้องมีการหารือร่วมกันถึงแนวทางการดำเนินการ ส่วนการจะนำประเด็นใดมาหารือได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการ โดยตนยืนยันว่า สภาฯ จะพยายามไม่ให้นำสถาบันเข้ามาเป็นเงื่อนไขให้สองฝ่ายต้องทะเลาะกัน โดยยึดถือหลักการตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้