เริ่มแล้ว รัฐสภา ถกแก้รัฐธรรมนูญ ส.ว.ยัน ไม่ชี้นำสมาชิก
เริ่มแล้ว ประชุมร่วม ส.ส.- ส.ว.ถกแก้รัฐธรรมนูญ 60 ส.ว.ยัน ไม่ชี้นำสมาชิก
เวลา 09.30 น. วันที่ 23 ก.ย.ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา หน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ พ.ศ…ทั้ง 6 ฉบับ โดยนายชวน กล่าวว่า ได้ตกลงกรอบเวลาทั้ง 3 ฝ่ายเท่า ๆ กัน ส่วนการลงมติจะลงทีละญัตติซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร โดยส่วนตัวจะขอให้สมาชิกกระชับเวลาในการลงมติ
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ยืนยันว่า การลงมติรับหลักการหรือไม่รับหลักการญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่มีการตั้งกรรมาธิการศึกษา 6 ญัตติก่อน ตามที่มีการเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้พร้อมระบุว่าส่วนตัวไม่เคยพูดว่าจะมีการตั้งกรรมาธิการศึกษาแต่เป็นคำถามจากสื่อมวลชนซึ่งตนตอบไปว่าเคยได้ยินเท่านั้น เป็นข่าวที่ลือกันมาแต่วิป 3 ฝ่ายไม่ได้พูดคุยกัน
นายพรเพชร กล่าวว่า ในส่วนของ ส.ว. มีผู้อภิปราย 27 คน ส่วนจะลงมติรับหลักการในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือไม่นั้นมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญแต่ยืนยันว่าตนและรัฐบาลไม่มีคำสั่งหรือชี้แนะสมาชิกในประเด็นนี้ ขณะที่หลายคนในที่ประชุมวิปวุฒิสภาระบุว่า ส.ว. มีวุฒิภาวะ ที่จะพิจารณาลงมติอย่างไรส่วนที่สมาชิกไปปรึกษากันเองก็ว่ากันไป ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ก้าวก่ายเรื่องนี้
นอกจากนี้ ยังระบุถึง เสียง ส.ว. 84 เสียง ที่จะมีผลต่อการลงมติรับญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถ้าไม่ครบจะทำให้สถานการณ์การเมืองมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นหรือไม่ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติมาเช่นนั้น และให้สมาชิกลงมติตามที่เห็นสมควร ไม่มีการตั้งเป้าว่าจะลงครบหรือไม่แต่การลงมติต้องอธิบายต่อสังคมได้ และสังคมมีสิทธิ์วิจารณ์ได้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญร่วมกับรัฐบาล ซึ่งมีหลักการสำคัญคือการแก้ไขในมาตรา 256 โดยจัดให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาแต่ต้องไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้มอบหมายให้วิปรัฐบาลดำเนินการเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดผลสำเร็จจึงเป็นที่มาที่ทำให้ตนได้เสนอให้วิปทั้ง 3ฝ่ายได้ประชุมเพื่อหาจุดยืนร่วมกันในการที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดผลสัมฤทธิ์มากที่สุด
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการหารือกับวิปรัฐบาลชัดเจนแล้วว่าอย่างน้อยจะสนับสนุนร่างของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีหลักการเดียวกัน ส่วนประเด็นอื่นให้เป็นหน้าที่ของวิปทั้ง 3ฝ่ายที่จะต้องหารือกัน ทั้งนี้ กรณีที่จะมีส.ส.ในพรรคโหวตสวนมติของพรรคหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของ ส.ส.คนนั้นที่จะต้องชี้แจงอธิบายเหตุผลของการลงมติซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีมติชัดเจนว่าจะต้องเห็นชอบในร่างของพรรคร่วมรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ยังได้กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อพิจารณาก่อนรับหลักการส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องไม่จำเป็น เนื่องจากได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้แล้วและได้ข้อสรุปรวมถึงเสนอต่อสภาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการตั้งคณะกรรมาธิการมองว่าเป็นเรื่องซ้ำซ้อนและเกินความจำเป็นพร้อมยืนยันว่าที่ประชุมร่วมรัฐสภาสามารถลงมติในขั้นรับหลักการว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่