อดีต กรธ.ยัน ไม่ร่าง รธน.อีกแล้ว รับลำบากใจ มีทั้งชอบ-ติ
อดีต กรธ. ชี้ หากแก้รัฐธรรมนูญ ปี2560 ต้องเป็นตามกลไก มาตรา 256 ย้ำ ส.ส.ร.ต้องมีสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญร่วมยกร่าง และต้องรับฟังรอบด้านรวมทั้งเสียงของประชาชนด้วย
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กล่าวถึงการเสนอญัตติแก้ไขมาตรา256 เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเสนอให้ยกเลิกมาตรา 269 ถึง 272 เกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ตามบทเฉพาะกาล ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามหลักการต้องทำตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 ซึ่งวางหลักการไว้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องยากกว่ากฎหมายทั่วไป ต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 รวมถึงการเห็นชอบในวาระที่ 3 ต้องมีเสียงพรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลหรือไม่มีประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และบางประเด็นอาจจะต้องทำประชามติซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องอะไรก็แล้วแต่ จะต้องคำนึงถึงความต้องการของสังคมด้วย
นายอุดม กล่าวว่า หลักการที่กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากกว่ากฎหมายปกติ เป็นเรื่องธรรมดาของรัฐธรรมนูญเพียงแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดว่านอกจากจะต้องมีเสียงข้างมากแล้ว จะต้องมีเสียง ส.ว. ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นองค์ประกอบด้วย แต่ปัญหา คือ ส.ว. ต้องมาตามบททั่วไปไม่ใช่ในบทเฉพาะกาล อย่างที่เป็นอยู่ ซึ่ง ส.ส. เห็นไปในทำนองว่าอยากให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ แม้จะยากกว่าปกติ แต่ก็ไม่อยากจะให้ยากมาก
ส่วนการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายอุดม กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับแนวคิดเพราะคนที่เสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีเหตุผล 2 ประการ คือการร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหา 200 – 300 มาตรา ไม่ใช่แก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่งแล้วเพียงพออาจจำเป็นต้องเชื่อมโยงมาตราอื่น ทำให้เห็นว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ควรจะดูทั้งหมด และสิ่งที่พูดกันมากในคณะกรรมาธิการ คือต้องการเห็นรัฐธรรมนูญมาจากประชาชนจริง ๆ มาจากคนที่ประชาชนให้ความเห็นชอบไม่ใช่เพียงกลุ่มคน ซึ่งเห็นว่าจะต้องมีสัดส่วนของผู้เชี่ยวชาญเนื่องจากมีทั้งเรื่องการใช้ภาษา และเทคนิคต่าง ๆ ร่วมด้วย
นายอุดม ยืนยันว่า จะไม่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วพร้อมย้ำว่า หากจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการยกร่างก็ไม่สามารถกำหนดได้ดั่งใจว่าจะได้สิ่งที่ยกร่างได้ทั้งหมด แต่ต้องรับฟังบุคคลอื่นทั้งฟังคณะกรรมการด้วยกัน ไปจนถึงประชาชนทั่วไปจึงคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่บุคคลซึ่งเคยยกร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว จะตอบรับง่าย ๆเพราะว่าร่างที่ออกมามีทั้งคำชมและคำตำหนิ จึงเป็นเรื่องที่ลำบากใจสำหรับคนที่จะเข้ามาเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเฉพาะบุคคลที่เคยมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสีย บุคคลที่เคยร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนก็รู้สึกว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างมานั้นมีเหตุผล หากมาร่วมแก้ไขก็รู้สึกว่าลบล้างเหตุผลที่เคยร่างมา