จี้ รื้อระบบหมายจับไทยๆ ไม่ปกป้องสิทธิ์ประชาชน
วงเสวนา ยกกฎหมายต่างประเทศ จี้ รื้อระบบหมายจับไทยๆ ไม่ปกป้องสิทธิ์ประชาชน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ส.ค. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับ innocent international Thailand และสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จัดเสวนาวิชาการ “หมายจับ ต้องปฏิรูปอย่างไร ศาลจึงจะไม่ถูกตำรวจใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งประชาชน”
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่ผู้มีอำนาจจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงกฎหมายตามความต้องการให้ประชาชน หรือปฏิรูปกฎหมายให้ดี ให้เป็นไปตามระบบสากล ยกเว้นจะมีการลุกขึ้นมาเรียกร้องของภาคประชาชน ที่จะกระตุ้นในภาครัฐเกิดความตื่นตัว ปรับปรุงกฎหมายให้ดีขึ้น
นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคดีศาลแขวง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ความสำคัญของการออกหมายจับคือการแจ้งข้อกล่าวหา โดยกฎหมายในประเทศไทยนั้นทำให้ประชาชนถูกจับกุมโดยง่าย ต่างจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่เมื่อจับกุมแล้ว เจ้าหน้าที่จะไม่สามารถทำตามอำเภอใจได้ ผู้ถูกจับกุมสามารถได้รับการเยียวยา เรียกร้องสิทธิต่างๆได้มากกว่า แต่กฎหมายประเทศไทยจะเยียวยาเฉพาะเมื่อศาลพิพากษาว่าไม่ได้กระทำความผิด ส่วนต่างประเทศแค่ศาลปล่อยตัวก็ได้รับเงินเยียวยาแล้ว นอกจากนี้ตามหลักสากลยังหลีกเลี่ยงการขัง และรังเกียจการขังในระหว่างการพิจารณาคดี เพราะถือว่าขัดต่อสิทธิการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
“ใครบอกว่ากฎหมายไทยดี ต้องถามว่าดียังไง เขารู้กฎหมายต่างประเทศหรือยัง หรือรู้มาตรฐานสากลดีพอหรือไม่ การจับกุมของไทยควรเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพราะกระบวนการยุติธรรมสากล จะทำให้ประชาชนเข้าถึงง่าย ราคาไม่แพง จะไม่มีคำว่าคุกมีไว้ขังคนจน” นายน้ำแท้ กล่าว
นายน้ำแท้ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีหลักว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เขียนว่าถ้ามีการละเมิดสิทธิ จะต้องมีการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองปกป้องอย่างเท่าเทียม มีมาตรการการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น เมื่อมีการจับกุมแล้ว จะมีอัยการไปดูตัวที่สถานีตำรวจ ว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ โดยจะขังก็ต่อเมื่อมั่นใจว่าจะฟ้องแน่ๆ ต่างจากประเทศไทยที่ขังก่อน แล้วค่อยปล่อยตัวทีหลัง ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกจับกุม
นายธนัทเทพ เธียรประสิทธิ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า วิวัฒนาการการออกหมายจับของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แม้ในทางปฏิบัติจะมีปัญหาบ้าง เช่น เจ้าหน้าที่ไทยมักมีชุดความคิดจับเพื่อควบคุมอาชญากรรม โดยจับมาก่อนแล้วปล่อยทีหลัง เมื่อพบว่าไม่มีความผิด ซึ่งทำให้ผู้ต้องสงสัยได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง
นายธนัทเทพ กล่าวว่า กฎหมายประเทศอังกฤษต่างจากของไทยตรงที่ผู้ถูกจับกุมจะมีสิทธิมากกว่าไทย เช่น ขอให้ศาลออกหมายเรียกตัวไปขึ้นศาล เพื่อเรียกร้องความเห็นธรรม ผู้ถูกจับกุมสามารถยกการจับกุมที่มิชอบไปต่อสู้ได้ เพื่อให้ศาลยกฟ้อง เช่น อ้างว่าเมื่อการจับกุมโดยมิชอบแล้ว กระบวนการอื่นจะมีความชอบธรรมได้อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีทนายให้บริการ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายให้ฟรี ที่สำคัญ หากภายหลังพบว่าไม่ได้กระทบความผิด จะได้เงินชดเชยสำหรับการคุมขังด้วย คิดเป็น 3 วันประมาณ 1 แสนปอนด์
นายธนัทเทพ กล่าวว่า ส่วนความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะเป็นฐานมูลของหน่วยงานรัฐ มีผลให้ ส.ส.ใช้อำนาจ เพิ่มหรือลดงบประมาณของหน่วยงานนั้นๆ ที่สำคัญคือจะทำให้หน่วยงานราชการระมัดระวังการทำงานมากขึ้น ทั้งนี้ การอ้างว่ากฎหมายไทยดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องอิงกับกฎหมายต่างประเทศนั้น ไม่ช่วยให้กฎหมายไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น เราหวังให้ทุกองคาพยพในกระบวนการยุติธรรม มีความเป็นมืออาชีพ ตรงไปตรงมา
น.ส.สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวว่า กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดกฎหมายว่าด้วยการจับกุมไว้ทั้งหมด 9 ข้อ เช่น การจับกุมนั้นต้องไม่ก่อให้เกิดการตีความมากเกินไป ไม่ก่อให้เกิดความอับอาย ต้องมีความจำเป็นในการจับกุม เป็นต้น ทั้งนี้ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพราะไม่ผ่านคำสั่งศาล ทั้งยังไม่ได้นำตัวผู้ถูกจับกุมไปยังสถานที่ซึ่งควรจะเป็น
น.ส.สัณหวรรณ กล่าวว่า ประเทศไทยควรแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสากล เพราะการบังคับใช้กฎหมายนั้น กระทบต่อประชาชนอย่างมาก เช่น เมื่อถูกจับ นอกจากจะสูญเสียรายได้แล้ว ยังเสื่อมเสียชื่อเสียงและปัจจัยทางสังคมอื่น แต่รัฐจะเยียวยาเฉพาะเรื่องรายได้ โดยมองจากฐานของค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งไม่สามารถเยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อได้เลย นอกจากนี้หลายคดียังมักจับกุมในช่วงเย็นวันศุกร์ ซึ่งอาจไม่เป็นธรรมกับการใช้สิทธิของผู้ถูกจับเลย
นายนิรามาน สุไลมาน อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า กระบวนการกฎหมายของไทยถึงเวลาที่จะต้องสังคายนาทั้งระบบ ไม่ใช่จับกุมแล้ว สังคมไม่เชื่อถือ หวังว่าการที่เยาวชนตื่นตัวทางการเมือง จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีเสวนาดังกล่าว ยังเปิดรับฟังเสียงสะท้อนโดยตรงจากผู้ที้ได้รับผลกระทบของกระบวนการยุติธรรม คือ นายฤทธิชัย เสือเดช อายุ 39 ปี ผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา โดยนายฤทธิชัย ยืนยันว่า ไม่ได้กระทำความผิด นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ยังไม่สามารถพิสูจน์การกระทำความผิดดังกล่าวได้ แต่มีการจับกุม คุมขัง ฟ้องร้อง
นายฤทธิชัย เล่าว่า เมื่อปี 2558 ขณะที่ตนได้เข้าค่ายบำบัดยาเสพติดที่ จ.แห่งหนึ่ง ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามายังค่าย แล้วจับกุมตนในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดด้วยอาวุธปืน ซึ่งตนได้ยืนยันว่าอยู่ในค่ายตลอดเวลา ไม่ได้ออกไปที่ใด และมีพยานยืนยันชัดเจน แต่ทางตำรวจไม่เชื่อ จึงจับกุมและอยู่ในเรือนจำ 3 เดือน
นายฤทธิชัย เล่าทั้งน้ำตาว่า หลังจาก 3 เดือนแล้ว ก็ได้รับการปล่อยตัว กระทั่งเมื่อปี 2562 มีหมายเรียกจากตำรวจให้ตนไปพบตำรวจที่โรงพัก โดยตำรวจบอกว่าคดียังไม่จบ ทั้งที่เรื่องนี้ผ่านไปกว่า 4 ปีแล้ว โดยเรื่องดังกล่าวตำรวจเองก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การร่วมกันกระทำความผิดนั้น มีใครร่วมอยู่ด้วย ซึ่งตนก็มีพยานคือทั้งอาจารย์และเพื่อนในค่าย แต่ตำรวจกลับไม่เชื่อ โดยมีการส่งฟ้อง ต้องหาเงินไปประกันตัวถึง 5 แสนบาท ขณะนี้รอสอบปากคำอยู่ ซึ่งหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ถือว่าไม่ยุติธรรม และเป็นการกระทำที่ไม่มีจรรยาบรรณ
สำหรับเรื่องดังกล่าวเวทีเสวนา จะหารือร่วมกับ นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เพื่อช่วยเหลือต่อไป