ประเมินฝ่ายความมั่นคงรับมือม็อบ
ประเมิน 2 ยุทธวิธี ฝ่ายความมั่นคงรับมือม็อบนักเรียน นักศึกษา ประชาชน
สำหรับสถานการณ์การชุมนุมประท้วงของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน เริ่มจะขยายวงมากขึ้นตามลำดับ โดยฝ่ายความมั่นคง ยังคงใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบริหารจัดการความสงบเรียบร้อย ร่วมทำงานกับหน่วยข่าวกรองและตํารวจสันติบาล
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. สั่งการว่า ให้ใช้กฎหมายเข้ามาดูแลสถานการณ์การชุนนุม
และนั่นจึงเป็นเหตุให้การทำงานของตำรวจในเวลานี้ ออกมาในรูปแบบอย่างที่เห็น โดยสามารถแบบออกเป็น 2 ยุทธวิธี
1.จับแล้วปล่อย
ยุทธวิธีจับแล้วปล่อยนี้ ฝ่ายความมั่นคงใช้เรื่อยมาตั้งแต่เป็นรัฐบาล คสช.โดยมีการออกหมายเรียก ออกหมายจับ กระทั่งมีการจับกุม ทว่าอยู่ในโรงพักไม่เกิน 2 วันก็มีการปล่อยตัวออกมา
นั่นเพราะว่าขณะที่มีการจับกุมนักกิจกรรม ตำรวจเองก็ได้รับแรงกดดันจากมวลชนจำนวนไม่น้อย ที่ไปรวมตัวกันหน้า สน.เพื่อให้กำลังใจผู้ที่ถูกจับกุม มีการเปิดพื้นที่ปราศรัยกันย่อมๆเพื่อกดดันอีกทางหนึ่ง จึงเป็นเหตุให้ตำรวจต้องปล่อยตัวเพื่อลดแรงกดดัน ป้องกันการบานปลาย
กระนั้นยุทธการนี้ ก็ยังถือเป็นการปรามผู้ชุมนุมให้ระมัดระวังการเคลื่อนไหว เพราะต้องอย่าลืมว่า การที่ถูกปล่อยตัวออกมานั้น เป็นแต่เพียงการปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อยังมีข้อกล่าวหาอยู่ ตำรวจย่อมจะจับกุมอีกเมื่อใดก็ได้ นั
นั่นจึงทำให้นักเคลื่อนไหวบางคนไม่กล้าออกตัวแรง
2.หลักจิตวิทยา
ฝ่ายความมั่นคงจะวิเคราะห์จุดอ่อนของนักกิจกรรมแต่ละคนว่า มีจุดอ่อนอย่างไรบ้าง เช่นบางคนเชื่อฟังพ่อแม่ บางคนเชื่อฟังครูบาอาจารย์ ขณะที่บางคนมีคดีติดตัว
เหล่านี้เป็นช่องให้ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาใช้หลักการจิตวิทยากับผู้ชุมนุม เพราะเมื่อไม่สามารถห้ามเด็กได้ แต่ก็บอกกล่าวกับคนที่เด็กรักและเคารพ ให้ช่วยบอกกล่าวแทน
อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ถูกมองว่าเป็นการคุกคามครอบครัวและผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ชุมนุม ก่อให้เกิดข้อเรียกร้องหยุดคุกคามประชาชน แม้ว่ารัฐจะมองว่าเป็นการขอความร่วมมืออย่างฉันมิตรก็ตาม
สำหรับสถานการณ์การชุมนุมโดยรวม ยังมองว่าไม่เข้าเกณฑ์ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง เพราะเวลานี้ยังอยู่ในขั้นของการเชิญชวนแนวร่วมให้ได้มากที่สุด ส่วนอนาคตจะลงเอยอย่างไรนั้น ไม่มีใครตอบได้