ศบศ.ถกนัดแรก เคาะ 4 มาตรการ ขยายสิทธิ์ เราเที่ยวด้วยกัน

นายกรัฐมนตรี นำถก ศบศ.นัดแรก เคาะ 4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) นัดแรก

นายสมิทธ์ พนมยงค์ โฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ แถลงว่า ที่ประชุมอนุมัติใน 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.ด้านการท่องเที่ยว ให้ขยายสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยปัจจุบันมีการใช้สิทธิ์ที่พักแล้ว 5 แสนสิทธิ์ จากทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ์ ดังนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงขอขยายสิทธิ์ออกไปจากเดิม ที่ให้สิทธิ์ที่พักคนละ 5 คืน เป็น 10 คืน และขยายการสนับสนุนตั๋วเครื่องบินจากคนละ 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท โดยจะเสนอ ครม.เห็นชอบวันที่ 25 ส.ค.นี้
2.มาตรการสนับสนุนธุรกิจ SMEs โดยได้มีการอนุมัติแล้วตามมาตรการของกระทรวงการคลัง 3.มาตรการการจ้างงาน โดยมีจะมีการจัดทำฐานข้อมูลของคนว่างงาน และความต้องการ แล้วมีการจัดงานจ็อบ เอ็กโปร เป็นต้น 4.มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ที่จะดึงดูดเอกชนมาร่วมช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น

ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายและแนวทางการทำงานของ ศบศ. ว่า ต้องเป็นหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ โดยคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนี้ จะร่วมมือกันวางแผนงานที่ชัดเจนตามช่วงระยะต่างๆ
พร้อมได้สั่งการถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรอง การแพร่ระบาด การติดตามตัว กรณีมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เนื่องจากเป็น 3 กระบวนการที่สำคัญ และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้