บุกสภา ชง ทำประชามติ รื้อรัฐธรรมนูญ
รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณคณบดี คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) บุกสภา ชง ทำประชามติ รื้อรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) นำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณคณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) พร้อมคณะ ยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ…..ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อถามประชาชนว่า เห็นควรแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน พร้อมคณะตัวแทน ส.ส. จากพรรคร่วมฝ่ายค้าน รับร่างกฎหมาย
โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ ในฐานะตัวแทน ครช. กล่าวถึงที่มาและเป้าหมายของการยื่นร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและเครือข่ายขณะเดียวกันยังเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ ความผาสุกและความกินดีอยู่ดีของประชาชน รวมถึงยังมีการสร้างเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้อย่างซับซ้อนเพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกแก้ไขได้โดยง่ายโดยเฉพาะในส่วนบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 256 จึงจำเป็นที่จะต้องมีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยโดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่กลไกภาคประชาชนและอาศัยวิธีการที่นอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดไว้เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นที่ประจักษ์ มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับร่วมกันผ่านการทำประชามติ
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันปัจจุบันกระแสการเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่กำลังขยายตัวอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางการตื่นตัวทางการเมืองในหมู่ประชาชนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การชุมนุมเคลื่อนไหวไม่ได้จำกัดเฉพาะในส่วนของคนที่เคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง หากแต่รวมถึงคนกลุ่มใหม่ เช่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือว่า คนรุ่นใหม่ ที่ต่างได้ตระหนักว่าความเลวร้ายที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้และในอนาคตข้างหน้าล้วนมีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นับเป็นการแสดงออกร่วมกันครั้งใหญ่ของผู้คนหลากหลายกลุ่มทุกเพศทุกวัยในสังคม ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
.ทั้งนี้ เพื่อให้กระแสเรียกร้องการร่างรัฐธรรมใหม่ขยับไปข้างหน้าและมีผลในทางปฏิบัติ ประกอบยังมีกระแสบางส่วนที่ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่นับรวมว่าแม้จะมีการตอบสนองของพรรคการเมือง วุฒิสภา รวมถึงคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง แต่ส่วนใหญ่ยังคงเสนอให้มีการแก้ไขเป็นรายมาตราหรือไม่ก็แก้ไขเฉพาะในมาตราที่เป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ประชาชนโดยรวม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแสดงเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นที่ประจักษ์ มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับร่วมกันผ่านการทำประชามติ
ผู้สื่อข่าวรยงานงาน “พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ….” ที่เสนอ มีคำถามหลักว่า “เห็นควรให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่”