เปิดเทอมใหญ่-รีสตาร์ทการเมือง
ฝ่ายค้านปรับกระบวนท่า-รัฐบาลจัดทัพขึ้นปี 2
การประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 พ.ศ.2563 “เปิดเทอมใหญ่” ด้วยการพิจารณาวาระ “กฎหมายการเงิน” อย่างน้อย 4 ฉบับ 3 ฉบับแรก ระหว่างวันที่ 27 – 31 พ.ค.63 รวดเดียว 5 วัน 5 คืน
ฉบับที่ 1 ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท
ฉบับที่ 2 ร่างพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท
ฉบับที่ 3 ร่างพ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 วงเงิน 4 แสนล้านบาท
ฉบับที่ 4 ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 88,452 ล้านบาท ในวันที่ 4-5 มิ.ย.63 คาดว่าจะพิจารณา 3 วาระรวด
อีกฉบับ-ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท พ่วงกับการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.งบปี 2564 ในส่วนงบรายจ่ายงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา เยียวยาโควิด-19 วงเงิน 40,325.6 ล้านบาท
กางปฏิทิน-ไทม์ไลน์ กำหนดกระบวนการอนุมัติงบประมาณ ดังนี้
วาระที่ 1 วันที่ 24 – 25 มิ.ย.63 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 วันที่ 16 – 17 ก.ย.63 หลังจากนั้นวุฒิสภา (ส.ว.) จะพิจารณาเพื่อเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในวันที่ 21 – 22 ก.ย. 63
ขั้นตอนสุดท้ายสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในวันที่ 29 ก.ย.63 เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
พรรคฝ่ายค้าน “จองกฐิน” ชำแหละพ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ เม็ดเงินกว่า 1.9 ล้านล้าน โดยเฉพาะงบประมาณเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน เพราะมองว่า “ตีเช็คเปล่า” ขาดการตรวจสอบตามกลไกปกติของรัฐสภา
มิหน้ำซ้ำยังเป็น “กระสุนการเมือง” ให้รัฐมนตรี “ฝากรัฐบาล” และส.ส.พรรครัฐบาลใช้โปรยลงพื้นที่ของตัวเอง-ใช้ในการหาเสียงให้กับพรรค-พวกฝ่ายรัฐบาล เพื่อโกย “คะแนนนิยม” ทางการเมือง
ขณะที่ร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 63 วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท “งบกองทัพ” จะเป็น “ตำบลกระสุนตก” อีกครั้ง โดยเฉพาะงบจัดซื้อ “อาวุธยุทโธปกรณ์” ที่อาจจะสามารถ “ตัด-หั่น” ลดลงได้อีก
ทั้งนี้ 10 อันดับสูงสุดที่ตัด-หั่น-ลด ลงกองกลางฉุกเฉินสำหรับแก้ปัญหาโควิด-19 มากที่สุด ได้แก่ อันดับที่ 1 กระทรวงการคลัง 36,100 ล้านบาท อันดับที่ 2 กระทรวงกลาโหม 18,082 ล้านบาท
อันดับที่ 3 กระทรวงคมนาคม 11,165 ล้านบาท อันดับที่ 4 กระทรวงมหาดไทย 6,340 ล้านบาท อันดับที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ 5,045 ล้านบาท อันดับที่ 6 รัฐวิสาหกิจ 2,949 ล้านบาท
อันดับที่ 7 กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 2,622 ล้านบาท อันดับที่ 8 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2,617 ล้านบาท อันดับที่ 9 จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 2,537 ล้านบาท อันดับที่ 10 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยฯ 2,199 ล้านบาท
ไฮไลท์เปิดเทอมใหญ่สภาประจำปี 2563 อยู่ที่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ในเดือนมิ.ย.63 เพราะเป็น “กฎหมายการเงิน” ที่จะ “ชี้เป็นชี้ตาย” รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์-สภา 500 ว่าจะ “อยู่หรือไป”
แม้ก่อน “มหาภัยบัติโควิด-19” จะเกิดขึ้น “รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์” จะมีเสียงโหวตเกินครึ่ง-เสียงเหนือน้ำ ภายหลังช้อนซื้อ “งูเห่า” จากพรรคฝ่ายค้านได้ “เป็นกอบเป็นกำ”
ทว่าหลังจากเหตุการณ์โควิด – 19 คลี่คลายลงจะมีการ “ปรับโครงสร้าง” พรรครัฐบาล-พลังประชารัฐ (พปชร.) เปลี่ยนหัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค และจัดทัพกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ใหม่
นอกจากนี้พรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มีการเขย่าจากคนในพรรค-สายอภิสิทธิ์เดิม เพื่อต่อรอง-สลับเก้ารัฐมนตรีในโควตาของพรรค
รวมถึงพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค หลังจากช้อนซื้องูเห่า – อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่มา “เติมเสียง” ให้กับรัฐบาล กลายเป็นพรรคอันดับ 2 เข้าทาง “ขอโควตารัฐมนตรีเพิ่ม”
ทั้งหมดทั้งมวลนำไปสู่การจัดทัพ-ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/2 ภายหลังบริหารประเทศครบ 1 ปี ก่อนเข้าสู่ “รัฐบาลปีที่สอง”
ขณะที่ “พรรคพันธมิตรฝ่ายค้าน” จะมีการ “ปรับกระบวนทัพใหม่” และการรีเทรินของ “อดีตขุนพลไทยรักไทย” ตั้ง “พรรคใหม่” เทขายซากเพื่อไทย
ระฆังการเมืองดังแล้ว ถึงเวลา “รีสตาร์ท” เข้าสู่โหมดการเมืองเต็มตัว.