ฉากจบโควิด – 19 ?ประยุทธ์ กำกับเอง-แสดงเอง
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กลายเป็น “หนังเรื่องยาว” เพราะยังไม่รู้ วัน ว. เวลา น. ว่า จะจบลงเมื่อไหร่ เป็นวัน-เดือน-ปี หรือ โควิด-19 จะมี “ภาคต่อ” หรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “หัวหน้ารัฐบาล” จึงเปรียบเสมือน “ผู้กำกับการแสดง” ที่ต้องกำกับหนังเรื่องยาว-โควิด 19 ให้จบลงเร็วที่สุด-จำนวนตอนน้อยที่สุด และต้องไม่มีภาค 2 – ภาค 3 ….
นับตั้งแต่ “พล.อ.ประยุทธ์” ประกาศสงครามกับโควิด – 19 อาศัยอำนาจนายกรัฐมนตรี ขออำนาจจากคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ฉากแรก ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม จนถึง 30 เมษายน 2563 .
อาศัยอำนาจ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ออก “คำสั่งนายกรัฐมนตรี” ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” มีตัวย่อว่า “ศบค.” เป็น “หน่วยงานพิเศษ”
โดยมี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็น “ผู้อำนวยการศูนย์”
มีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทุกกระทรวง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ประสานงานทั่วไป
และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (นายประทีป กีรติเรขา) เป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร (นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวกรรม-ภรรยา “เสธ.เปา” พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เสียชีวิตจากการปะทะกับกลุ่มนปช.ที่สี่แยกคอกวัว เมื่อปี 2553)
อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์
นอกจาก “พล.อ.ประยุทธ์” จะกุมบังเหียน “ผู้อำนวยการศูนย์”– ศบค. แล้ว ยังเป็น “ผู้กำกับ” การปฏิบัติงานของ “หัวหน้าผู้รับผิดชอบ” ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน พนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน-ต้านโควิด 19
โดยมีรองนายกรัฐมนตรี ที่มาจาก 3 พรรคร่วมรัฐบาล พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ เป็น “ผู้ช่วยผู้กำกับ” เล่นจริง-เจ็บจริง
มีข้าราชการระดับสูง-ปลัดกระทรวงและผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็น “หัวหน้าผู้รับผิดชอบ” จำนวน 6 ด้าน ได้แก่
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับสาธารณสุขทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมสินค้า ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้ารับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ และคุ้มครองช่วยเหลือผู้มีสัญชาติไทยในต่างประเทศ
ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง โดยมี “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” เป็น “โฆษก ศบค.”
ฉากจบ-ตอนสุดท้ายของหนังเรื่องโควิด – 19 สะท้อนการอยู่-การไปของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และความชอบธรรม “เสมอตัว” หรือ “ติดลบ”
ฤาจะ “หักมุม” ตอนจบ “อยู่บ้าน-หยุดเชื้อ-เพื่อชาติ” ชมฉากสยองขวัญด้วยใจระทึก