ประยุทธ์ ปีชง-ดวงตก รัฐบาลขาลง
มรสุมการเมือง ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจฉุด
แม้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะ “ไม่โมฆะ” ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 และให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 “ใหม่อีกครั้ง” ภายใน 30 วัน
ทว่า “ปัจจัยลบ” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังคง “รุมเร้า” รัฐบาลรอบด้าน
ทำให้รัฐบาลขณะนี้อยู่ในช่วง “ขาลง” – พล.อ.ประยุทธ์ ดวงดาวโคจรเข้า “ปีชง-ดวงตก”
ทั้งเอฟเฟกต์จากร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 “ล่าช้า” ทำให้งบลงทุนโครงการใหม่ มูลค่าลงทุนกว่า 3-4 แสนล้านบาท “ค้างท่อ” ขณะที่งบรายจ่ายประจำสามารถใช้ได้อย่างจำกัดจำเขี่ย-ไม่เต็มไม่เต็มมือเพียงร้อยละ 75
มิหน้ำซ้ำ กว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 จะมีผลบังคับใช้หลังจากรัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ และสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ คาดว่าจะล่วงเลยถึงเดือนมีนาคม ทำให้เหลือเวลาใช้จ่ายงบประมาณได้ 6 เดือนเท่านั้น
ส่งผลให้ที่คาดว่างบประมาณจะสามารถเบิกจ่ายได้ 100 เปอร์เซ็นต์อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ซ้ำเติมด้วยโรคระบาดไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ส่งผลกระทบภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมท่องเที่ยว “เครื่องยนต์ตัวสุดท้าย” เศรษฐกิจไทยซึมยาว ที่มีสัดส่วนร้อยละ 12 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เดินเครื่อง “ไม่เต็มสูบ”
โดยเฉพาะ “นักท่องเที่ยวจีน” ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 27.5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด เดินทางมาประเทศไทยลดลงถึงร้อยละ 80 (ม.ค.-เม.ย.) คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 95,000 ล้านบาท
ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว-นโยบายการคลังสารพัดแพ็กเกจเพื่ออัดฉีดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว-พยุงธุรกิจไม่ให้ล้มหาย-เฉาตาย เฉพาะมาตรการสินเชื่อสูงถึง 125,000 ล้านบาท
รวมถึงการตั้งคณะกรรมการ Ease of Traveling ที่มีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นรองประธาน
นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยัง “ยิงกระสุนนัดสุดท้าย” มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือร้อยละ 1
และพร้อมใช้ Policy space เป็น “เครื่องมือทางการเงิน” พยุงเศรษฐกิจหากมีความจำเป็น
ขณะที่ “ปัจจัยแทรกซ้อน” จากโศกนาฎกรรมกราดยิง “ผู้บริสุทธิ์” ในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินัล 21 ย่านธุรกิจใจกลางเมืองจังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 30 ศพ มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน “ซ้ำเติม” ผู้ประกอบการให้ “ซบเซา”
ความโศกเศร้าจากการต้องสูญเสียทั้งชีวิต-บาดเจ็บของผู้บริสุทธิ์จำนวนมากและคนที่ติดตาม-เกาะติดเหตุการณ์ระทึกขวัญ-วิตก มีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์สลด
ทำให้ภาพ “มินิฮาร์ท” ของพล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างลงไปเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัว รวมถึงไปให้กำลังใจชาวโคราช เป็น “กระแสตีกลับ” ถึง “สภาวะผู้นำ” ของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสื่อโชเชียลมีเดีย
เป็นมรสุมการเมืองถาโถมเข้าใส่พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนรับมือศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ ก่อนลงมติในวันที่ 27 กุมภาพันธ์
ทำให้รัฐบาลต้อง “เรียกคะแนนคืน” โดยตั้ง “คณะกรรมการติดตามมาตรการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ” จากเหตุการณ์ เพื่อออกแพ็คเกจภายใต้กรอบ 4 ด้าน ได้แก่ 1.มาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
2.มาตรการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจสำหรับญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ 3.มาตรการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับประชาชน และ 4.มาตรการเยียวยาและลดผลกระทบของผู้ประกอบการ
ขณะที่ภัยแล้งก็ยังเป็นปัญหาหมักหมม-สุมอกรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เพราะส่งผลถึงน้ำกิน-น้ำใช้ของประชาชน และภาคการเกษตร รวมถึงภาคอุตสาหกรรม
จนรัฐบาลจะประกาศปัญหาภัยแล้งเป็น “วาระแห่งชาติ” และได้ตั้ง “วอร์รูมแก้วิกฤต” ภายใต้โครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้ง 3 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ มีเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธาน ระดับที่ 2 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เป็นประธาน และระดับ 3 หรือ “ระดับวิกฤต” ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน
จากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจหลายหน่วยงานจึงได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 62 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.5-2.6 และจะปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 2.7-2.8 ในปี 2563
โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 อย่างเป็นทางการในวันที่ 17 กุมภาพันธ์
ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 63 คาดว่าจะต่ำกว่าประมาณการครั้งที่ผ่านมาที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7-3.7 ค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 3.2
ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลัง “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เตรียมออกแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ “รอบใหม่” เข้าสู่ครม.เศรษฐกิจในครั้งหน้า
เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นจาก “รัฐบาลขาลง” สะเดาะเคราะห์พล.อ.ประยุทธ์ที่อยู่ในช่วง “ปีชง-ดวงตก”.