ทางสองแพร่ง งบ 63 ปลดล็อค 3.2 ล้านล้าน
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท อยู่ในสถานะ “ลูกผีลูกคน” โดยศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งรับ-ไม่รับคำร้องปมเสียบบัตรแทนกัน…เป็นทางสองแพร่ง
แพร่งที่หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง “รับคำร้อง” เฉพาะกรณีส.ส.เสียบบัตรแทนกัน แต่ไม่ส่งผลถึงร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระ และผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา เพื่อนำขึ้นทูลเกล้า ฯ
เนื่องจาก 1 คะแนนของนายฉลอง เทอดวีระพงษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย-ต้นเรื่องเสียบบัตรแทนกัน “ไม่มีนัยยะ” ต่อผลการลงมติมาตรา 31 – มาตรา 53 ที่จะทำให้ผลการเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบเปลี่ยนไปจากมติเดิม
แพร่งที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องทั้งกรณีเสียบบัตรแทนกันและส่งผลถึงร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 อาจจะทำให้ต้อง “โมฆะ” หรือไม่
แต่แน่นอนว่าจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณต้องล่าช้าออกไปอีก
จากเดิมที่ล่าช้าไปแล้ว 4 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 62 เป็น “ช่วงรอยต่อ” ระหว่าง “รัฐบาลเก่า” กับ “รัฐบาลใหม่” โดยคาดการณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณา 2-3 เดือน
เบ็ดเสร็จรวมแล้วจะล่าช้าออกไปอีก 8-9 เดือน ทำให้มีเวลาในการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณเพียง 4 เดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ดีรัฐธรรมนูญมาตรา 144 วรรคสาม กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับความเห็น ดังนั้น “อาจไม่ล่าช้าอย่างที่คิด”
สำหรับกรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ในอดีตศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่เป็น “บรรทัดฐาน” ในปี 2556 กรณีการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
และคำวินิจฉัยในปี 2557 กรณีร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ…วงเงิน 2 ล้านล้านบาท “ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”
ทว่าความแตกต่างของกรณี พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็น “โมฆะ” ไม่ใช่ประเด็นการเสียบบัตรแทนกัน-ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การออกพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ไม่ผ่านขั้นตอน-วิธีการออกงบประมาณ หรือ กฎหมายงบประมาณ
ดังนั้น กรณีคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 อาจส่งผลทำให้ “ไม่เป็นโมฆะ”
ระหว่างทางก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญตจะชี้ขาดร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ออกมาชี้ทางออก ทั้งปรารถนาดี และ “หวังดี-ประสงค์ร้าย”
โดยฝ่ายค้าน-โภคิน พลกุล มือกฎหมาย-กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ออกมาเสนอให้รัฐบาลนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ที่ผ่านการพิจารณาของสภานำมา “ลงมติใหม่” ตั้งแต่วาระแรก
ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ 4 แนวทาง 1 ทางห้าม 1.การออกเป็นพ.ร.ก.โดยใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้วเพื่อให้มีการประกาศใช้ไปก่อน ซึ่งอาจจะขัดต่อหลักการและขั้นตอนการจัดทำงบประมาณของแผ่นดิน
2.นำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ที่ได้รับการแก้ไขแล้วเข้าสู่ที่ประชุมสภาเพื่อพิจารณา 3 วาระรวด โดยมีการตั้งคณะกรรมมาธิการเต็มสภา
“กรณีนี้จะต้องขอความร่วมมือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย ถ้าพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย การพิจารณาอาจจะยืดเยื้อล่าช้ากว่าปกติพอสมควร”
3.นำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ที่เพิ่งผ่านการลงมติไป กลับลงคะแนนใหม่ในวาระ2เฉพาะมาตราที่มีปัญหา และและลงมติวาระ 3 อีกครั้ง เพื่อให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความถูกต้องตามกฎหมาย
4.การนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ที่เป็นร่างเดิม เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯเพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จะให้ทำให้เสียเวลาอีกมากมาย
“แนวความคิดของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่โยนหินกรณีนำรัฐธรรมนูญมาตรา 143 มาใช้แก้ปัญหานั้น ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะกระบวนการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณฯเสร็จสิ้นตามกรอบเวลา 105 วันแล้ว จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา143”.