นักการเมืองผวา! กติกาเลือกตั้งใหม่ แยกเบอร์รายเขต
ทันทีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอปรับเปลี่ยนหลักการในร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยยกเลิกใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศและใช้ระบบแยกเบอร์รายเขต ก็มีเสียงคัดค้านก็สวนทางออกมาทันที
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า เรื่องนี้มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ใครมีความเห็นต่าง มีเหตุผล กรธ.ก็พร้อมรับฟัง ความมุ่งหมายของกรธ.คือให้การเลือกตั้งแต่ละเขตนั้น ต้องดูคน สอดคล้องกับการกำหนดคุณสมบัติส.ส.ให้เข้มข้น เพื่อป้องกันการซื้อเสียงที่หว่านกันทั้งประเทศ ไม่ให้เกิดคำพูดว่า เอาเสาโทรเลข เอาคนขับรถลงก็ได้อีกต่อไป
“ ประชาชนจะได้เรียนรู้ ทำความรู้จักผู้สมัครในเขตของตน ส.ส.จะได้ไม่ต้องเป็นบริวารให้พรรค แล้วทำตามคำสั่งอย่างเดียว เสียงที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ มีแต่พูดถึงเรื่องความเคยชิน แต่การปฏิรูปมันใช้ความเคยชินไม่ได้ หากกลับไปใช้เบอร์เดียว ทุกอย่างจะเหมือนเดิม เลือกกันโดยไม่รู้ว่าเลือกใคร ตอนนี้เนื้อหายังไม่นิ่ง อาจสับสนกันบ้าง แต่เชื่อว่าเมื่อนิ่งแล้ว กกต.จะช่วยทำความเข้าใจกับประชาชนได้ จะไปดูถูกประชาชนไม่ได้ การเลือกตั้งคนในเขต เขาเห็นป้ายผู้สมัคร จำหน้า จำชื่อผู้สมัครในพื้นที่ได้ หน้าคูหาก็มี ผู้คนเปลี่ยนไปเยอะแล้ว ไม่ใช่ 30-40 ปีที่แล้ว ที่อ่านหนังสือกันไม่ออก การเลือกตั้งต้องรู้ว่าไปเลือกใคร ต้องขวนขวายที่จะดูว่าใครเป็น ผู้สมัครในเขตของตนเอง ” นายมีชัยกล่าว
ขณะที่ความเห็นของนักการเมือง เริ่มจาก นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การอ้างว่าระบบเลือกตั้งใหม่มีบัตรใบเดียว ไม่มีบัตรพรรคเหมือนก่อน แต่อย่าลืมว่าแม้จะมีบัตรลงคะแนนแบบเขตเพียงใบเดียว แต่ก็นำคะแนนดังกล่าวไปคิดคะแนนบัญชีรายชื่อหรือคะแนนพรรคด้วย การเลือกผู้สมัครแบบเขต จึงเท่ากับเลือกพรรคนั้นไปด้วยนั่นเอง
“ ที่น่าวิตกคือผู้สมัครในจังหวัดที่มีหลายเขต เช่น มี 5 เขต ผู้สมัครแต่ละเขตอาจได้หมายเลขไม่ตรงกัน เขตหนึ่งเบอร์ 5 เขตสองเบอร์ 1 เขตสามเบอร์ 4 แทนที่จะเป็นเบอร์เดียวกันเหมือนที่ผ่านๆ มา จึงคิดว่าจะสร้างความสับสนยุ่งยากแก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่า จะต้องจำทั้งหน้าทั้งเบอร์ผู้สมัคร ระบบใหม่ที่เสนอจึงสร้างความสับสนวุ่นวาย อธิบายยาก ที่น่าคิดคือจะขัดต่อเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญที่ให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหรือไม่ ”
ขณะที่ น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รักษาการหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา บอกว่า ระบบนี้จะทำให้ประชาชนสับสนในการกาหมายเลขในบัตรเลือกตั้ง ซึ่งต้องพิจารณาตัวผู้สมัครและพรรคที่สังกัดพร้อมกัน รวมทั้งจะประสบความยากลำบากในการลงพื้นที่หาเสียงซึ่งทั้งพรรคและผู้สมัครมีหมายเลขต่างกัน
“ พรรคการเมืองลำบากมากในการประชาสัมพันธ์หาเสียงให้ประชาชนเข้าใจเรื่องเบอร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการและวัตถุประสงค์ต่อระบบการเลือกตั้ง อยากให้มีความสำคัญต่อตัวบุคล หรือให้ความสำคัญต่อพรรค การเมือง อยากให้ระบบพรรคเข้มแข็งหรือบุคคลเข้มแข็ง ทั้งนี้ระบบการเลือกตั้งที่ดี ควรเป็นระบบที่ง่ายต่อประชาชน จะเป็นกลไกช่วยส่งเสริมให้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งและให้พรรคการเมืองสามารถสะท้อนเจตนารมณ์ที่ดีต่อประเทศ ”
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า บางทีเรากังวลกับเรื่องดังกล่าวมากเกินไป ย้อนหลังไปปี 2544 เราเคยเลือกตั้ง 2 ใบ บางครั้งเบอร์เดียวกัน แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เลือกตั้งแบบรวมเขต เบอร์ผู้สมัครกับเบอร์พรรคไม่ตรงกัน ซึ่งมีประชาชนที่กากบาทผิดบ้าง แต่ไม่ได้มากมาย จึงไม่ถึงกับคอขาดบาดตาย เมื่อเขากำหนดกฎออกมาก็ต้องปฏิบัติ
“ หากถามว่าอยากเห็นการเลือกตั้งเป็นแบบไหน ตอบว่าอยากเห็นผู้สมัครแบบไม่มีเบอร์ เพราะการมีเบอร์ทำให้ซื้อเสียงง่ายขึ้น เนื่องจากต้องไปซื้อเสียงกับผู้ที่ไม่สนใจการเมือง ถ้าบอกเพียงเบอร์ก็จะจำง่าย แต่แบบไม่มีเบอร์ต้องระบุชื่อ นามสกุล และพรรคคนขายเสียงต้องตั้งใจจำเหมือนกัน ถ้าสังเกตประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่ค่อยใช้เบอร์ แต่ในอดีตเรายังกลัวคนอ่านหนังสือไม่ออก ซึ่งปัจจุบันลดจำนวนลงไปมากแล้ว ” นายอภิสิทธิ์กล่าว