คสช.ลั่นไม่ตั้งพรรคแต่“บิ๊กตู่”ลงเลือกตั้งเป็นเรื่องส่วนตัว

การเมืองไทยร้อนฉ่าขึ้นมาอีกครั้ง หลังนิด้าโพลสำรวจพบว่าประชาชนสนับสนุนให้ตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อสนับสนุนรัฐบาลคสช. ทำให้ 2 บิ๊กคสช.ต้องชี้แจงเรื่องนี้
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “2 พรรคการเมืองใหญ่กับการจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21 – 23 มิถุนายน จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ 2 พรรคใหญ่ระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยจะจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งสมัยถัดไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.84 ระบุว่าไม่มีความเป็นไปได้เพราะต่างนโยบายกันสิ้นเชิง
แต่เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีหากจะมีการจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคใหม่ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.52 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ต้องการเห็นทางออกใหม่ ๆ ที่ช่วยลดความขัดแย้งและความวุ่นวายทางการเมือง
ด้าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวเรื่องการตั้งพรรคทหารบนเวทีปาฐกถาเรื่อง “ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย” ว่า สถานการณ์วันนี้ไม่ใช่วิกฤตการณ์ประชาธิปไตยหรือวิกฤตสิทธิมนุษยชน แต่ให้มองว่าเป็นวิกฤตประเทศไทยที่ทุกคนต้องนำพาให้ประเทศมีความสุขมากขึ้น โดยส่งเสริมจุดแข็งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวางยุทธศาสตร์ชาติไว้ เพื่อเป็นกรอบให้เดินสู่เป้าหมาย
“จะกลัวอะไรกันมากนัก กลัวว่าจะไม่ได้ทำแบบเดิมที่เคยทำ ที่เคยไปหว่านแต่ละพื้นที่หรืออย่างไร ส่วนเรื่องที่ฝ่ายการเมืองออกมาเรียกร้องให้ลงรับสมัครเลือกตั้ง เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทีวีทุกช่อง วุ่นวายอยู่กับเรื่องของผม ที่ว่าจะเลือกตั้งหรือไม่ บ้าบอคอแตกกันอยู่นั้น วันนี้จะเป็นจะตาย เพราะฉะนั้นอย่าไปสนใจใครอยากพูดอะไรก็พูดไป มันเรื่องของผม ตอบชัดเจนแบบนี้แล้วอย่ามาถามผมอีก ถามกันอยู่ได้”
ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่าไม่คิดตั้งพรรคการเมืองทหาร รวมทั้งไม่เลื่อนเลือกตั้ง
“คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะไม่มีการจัดตั้งพรรคการเมืองหรือจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน โดยหน้าที่ของ คสช.จะหมดลงเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ” รวมทั้งไม่ขอแสดงความเห็นกรณีเมื่อหมดวาระการทำหน้าที่ของคสช.
เมื่อถามว่าแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะลงเล่นการเมืองหรือไม่ “มันเป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน ก่อนหน้านี้ นายกฯ พูดชัดเจนแล้ว แต่ก็เป็นเรื่องของสถานการณ์ในอนาคต ดังนั้น จึงไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ถึงแม้จะมีนักการเมืองออกมาท้าให้ คสช. ลงเล่นการเมืองก็ตาม
อย่างไรก็ตามทีมข่าว aecNews ได้ตรวจสอบพรรคทหารในอดีตพบข้อมูลว่า เริ่มต้นมีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ชื่อ พรรคเสรีมนังคศิลา มี “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” เป็นหัวหน้าพรรค จากนั้นปี 2500 ก็มีการตั้ง “พรรคสหภูมิ” มี “ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์” เป็นหัวหน้าพรรค แต่รับการสนับสนุนจาก “จอมพลสฤษฏิ์” แต่จากนั้นจอมพลสฤษฎิ์ตัดสินใจยุบรวมพรรคเสรีมนังคศิลา กับ พรรคสหภูมิ เกิดใหม่เป็น “พรรค ชาติสังคม” ซึ่ง “จอมพลสฤษฏิ์” เป็นหัวหน้าพรรคด้วยตัวเอง
จากนั้น พ.ศ. 2511 มีการตั้ง “พรรคสหประชาไทย” มี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค ในปี 2534 เกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง เป็นที่มาของพรรคสามัคคีธรรมในปี พ.ศ.2535 โดยมี นายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และล่าสุดกับการรัฐประหารปี พ.ศ.2549 หลังจากนั้น มีการตั้ง “พรรคมาตุภูมิ” ในปี พ.ศ.2552 ที่พลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคมช. มาเป็นหัวหน้าพรรคด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง