ชาวบ้าน-นักการเมือง มึน “ไพรมารี่โหวต”
หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบกับ “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง” ให้มีระบบเลือกตั้งขั้นต้น “ไพรมารีโหวต” ทำให้เกิดกระแสวิพากย์วิจารณ์ในสังคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระบบไพรมารีโหวต คือ การเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคและสาขาพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งแต่เดิมนั้นจะเป็นหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคเป็นคนเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
แต่ขณะเดียวกันมีความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับระบบไพรมารีโหวต ที่จะนำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่าประชาชนจำนวนมากยังไม่รู้จักระบบนี้ สะท้อนได้จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพลล์ ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจเรื่องนี้ โดยสอบถามถึงความเข้าใจเกี่ยวกับระบบไพรมารีโหวต พบว่า ประชาชนกว่า 40.30 % ยังไม่ค่อยเข้าใจ 34.29% ไม่เข้าใจเลย และ 25.41 % พอเข้าใจ
อย่างไรก็ตาม แม้ประชาชนยังไม่เข้าใจกับระบบนี้ แต่ส่วนที่ได้รับผลกระทบกับระบบนี้มีการถกเถียงและคัดค้านกับระบบใหม่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สนช. ชี้แจงว่า ระบบไพรมารี่โหวตจะไม่ส่งผลให้การเลือกตั้งล่าช้า เพราะหลังจากนี้ไปยังมีเวลาอีก 1 ปี และเชื่อว่า พรรคการเมืองรู้วิธีการดำเนินการดี อีกทั้งบทเฉพาะกาลยังยืดหยุ่นรายละเอียดการส่งตัวผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งแรกด้วย จึงต้องถามกลับว่า วิธีคิดให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้แทนของตนเอง ขจัดปัญหาพรรคที่เคยเป็นของนายทุน เป็นแนวคิดที่ดีหรือไม่ ถ้าตอบว่าดี ก็อย่าเอาปัญหาเล็กมาเป็นตัวตั้ง คอยขัดขวางการแก้ปัญหาเก่าๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ได้พยายามทำความเข้าใจ เนื่องจากมีการเพิ่มถ้อยคำเข้าไปในภายหลัง และเห็นว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคแน่นอนคือ เรื่อง เรื่องระบบบัญชีรายชื่อ เพราะเมื่อเราไปทาบทามคนนอกวงการเมือง เขาก็ต้องพอที่จะทราบว่าเขาอยู่ลำดับที่เท่าไหร่ หากอยู่ลำดับร้อยกว่าเขาคงไม่มา ซึ่งเมื่อให้สมาชิกเป็นผู้จัดลำดับ สมาชิกอาจจะไม่รู้จักบางคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเมือง ฉะนั้นจะเป็นอุปสรรคในการได้คนใหม่ ขณะเดียวกันยังเห็นใจพรรคขนาดเล็ก เพราะต้องเร่งตั้งสาขาพรรค และผู้แทนประจำจังหวัด จึงต้องทำให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ ถึงแม้จะทราบว่ามีความตั้งใจที่และเป็นแนวคิดที่หวังดี แต่ก็ไม่อยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติจริง ดังนั้นจึงต้องดูว่าเรื่องดังกล่าวขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะในแง่พรรคการเมืองควรจะมีสิทธิส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และคงเป็นประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ไปตรวจสอบ
นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า พรรคชาติไทยพัฒนาจะทำหนังสือถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อขอทักท้วงต่อประเด็นระบบไพรมารี่โหวต ที่บัญญัติไว้ เนื่องจากในมุมของพรรคการเมืองเห็นว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะสิทธิของพรรคการเมืองในการส่งตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง และไม่สามารถปฏิบัติใช้ได้จริง และไม่สามารถจัดการเลือกตั้งขั้นต้นได้ทันต่อการกำหนดระยะเวลาของการส่งตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคการเมือง นอกจากนั้นยังมีผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในเขตเลือกตั้งที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง
แตกต่างกับ ดร.จารุพรรณ กุลดิลก อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาสนับสนุน โดยเห็นว่า แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศไทยในขณะนี้ เพราะเป็นเรื่องใหม่ แต่ระบบดังกล่าวการให้เกียรติเสียงของประชาชนในการเลือกตัวแทนของตัวเอง มากกว่าให้คนใดหรือกลุ่มใดในพรรคการเมืองมีอำนาจสูงสุดที่จะตัดสินใจส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งดิฉันเองก็เป็น ส.ส.จากการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งไม่กลัวว่า ระบบไพรมารี่โหวต จะทำให้ตัวเองซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ หรือไม่มีชื่อเสียงจะไม่ได้รับการคัดเลือกโดยสาขาพรรคหรือตัวแทนประจำจังหวัด เพราะตัวเองก็ทำงานต่อสู้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง.