สปท.ผ่านฉลุยร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฯ
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ด้วยคะแนนเสียง 141 เสียง ไม่เห็นชอบ 13 งดออกเสียง 17
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา สมาชิก สปท.ใช้เวลาอภิปรายเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน นานกว่า 8 ชั่วโมง โดยที่ประชุมก็มีมติเห็นชอบ จากนั้นให้คณะกรรมาธิการไปปรับแก้ไขตามข้อเสนอของสมาชิก ก่อนนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
ย้อนไปก่อนที่ สปท. จะเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เกิดกระแสต่อต้านจากคนและองค์การสื่อ ที่มีการรณรงค์เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ภาพของตัวเอง ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรมส่วนตัว เป็นรูปกำหมัดสีดำ กำโซ่ปลดปล่อยนกพิราบ มีข้อความใต้ภาพว่า “หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำประชาชน”
นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวแสดงจุดยืนยืนยัน ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตามถึงช่วงเวลาที่ทุกคน ต้องรับรู้เรื่องจริงเกี่ยวกับ “วิชาชีพ” ที่กำลังเข้าสู่ช่วงที่ยากลำบากมาก เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจจะเลวร้ายจนเราคาดไม่ถึงด้วยซ้ำไป กฎหมายคุมสื่อภายใต้ชื่อที่เป็นวาทกรรมสวยหรู พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” ขยับเข้ามาใกล้มากแล้ว คือกฎหมายที่กำหนดนิยามคำว่าสื่อใหม่ และมีเป้าหมายเพื่อปิดปาก พวกเราอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนพวกเราจะไม่สามารถหาข้อมูล ค้นข้อเท็จจริง การตรวจสอบโครงการต่างๆที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐ นำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบได้เลย
นายกฯ สมาคมนักข่าว บอกอีกว่า พวกเรา จะกลายไปเป็นนักข่าวภายใต้การดูแลขององค์กรที่รัฐสร้างขึ้นมาที่ชื่อว่า สภาองค์กรวิชาชีพสื่อ หมายถึงการใช้อำนาจรัฐเข้ามาควบคุม พวกเราอย่างแน่นอน
คุณต้องไปทำบัตรขึ้นทะเบียน “เป็นนักข่าวกับสภาองค์กรวิชาชีพถ้าเราที่ทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้าน ไม่ทำบัตร แต่ออกไปทำข่าว จะมี” โทษจำคุก 6 เดือน และเรายังต้องผ่านการประเมินทุกๆปี สภาองค์กรวิชาชีพสื่อที่ว่า จะเป็นคนประเมินคุณ
“แล้วถ้าคุณ เขียนข่าว ไม่เป็นที่ชื่นชอบของรัฐ จะได้ต่อบัตรไหม ยังไม่รวม ความคลุมเครือว่า เนื้อหาข่าว ที่จะเป็นปัญหา คืออะไร อีกไม่นานแล้วที่ร่างกฎหมายนี้จะผ่านสภา ในขณะที่พวกเรายังตั้งตัวกันไม่ติด
เรายังรับรู้เรื่องนี้น้อยเกินไป ทั้งที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหนักหน่วง ที่สำคัญกว่าหน้าที่การงานของพวกเรา คือ วิชาชีพนี้ กำลังถูกทำลาย เราทุกคนจะกลายเป็นสื่อภายใต้อำนาจของรัฐ
สุดท้ายถ้ากฎหมายผ่าน บรรยากาศการเขียนข่าว รายงานข่าว คงเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ความแหลมคมและความสวยงามบนตัวอักษรในวิชาชีพเราที่ใช้ตรวจสอบอำนาจรัฐ คงขาดหายไป”
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ชี้แจงว่า เป็นแนวทางที่ให้ไปศึกษาว่าต่างประเทศมีการดำเนินการ ทั้งนี้ไม่ได้โทษสื่อมวลชน แต่เป็นเรื่องของคนไม่ดีบางส่วนที่ใช้สื่อหรือโซเชียลมีเดียให้เกิดปัญหา จึงต้องใช้หลักการพื้นฐานและมาตรฐานที่ต่างประเทศยอมรับ ยืนยันว่าไม่ได้ปิดกั้น ขอให้เข้าใจ และขอสื่อช่วยหาทางออกว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้สื่อเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของคนไม่ดี
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ย้ำว่ารัฐบาลมีความจำเป็น เพราะหลายอย่างเป็นกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดไว้ แต่เป็นเพียงกรอบกว้างๆ ซึ่งยังไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด เพราะต้องรับฟังประชาชนและสื่อก่อน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ เคยมอบอำนาจความรับผิดชอบให้สมาคมสื่อ แต่ก็ย้อนเองว่าทำไม่ได้ทั้งหมด ก็ต้องยอมรับตรงนี้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาหาคนรับผิดชอบไม่ได้ จึงจำเป็นต้องพูดคุยเรื่องเหล่านี้
“และต้องยอมรับ ผมก็ยอมรับท่าน ท่านก็ต้องยอมรับผม ว่ามีปัญหาอยู่ ต้องทำให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่กลัวว่ารัฐบาลจะปิดกั้นสื่อ ไม่มีสื่อแล้วผมจะทำงานได้ไหมละ สื่อเป็นคนขยายความเข้าใจให้ผม อะไรไม่ดีสื่อก็เตือนมาผมก็ตรวจสอบให้”