ทวงคืน “ป้อมมหากาฬ” พิพาทรัฐ-ชุมชนกลับมาปะทุ
พลันที่ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” พร้อมเจ้าหน้าที่เทศกิจ
กำลังตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ กองบังคับการปราบปราม กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์และทหารชุดป้องกันและปราบปรามเหตุจราจล รวมประมาณ 250 นาย
เปิดปฏิบัติการทวงคืนชุมชน ” ป้อมมหากาฬ ” ในพื้นที่เขตพระนคร เพื่อเตรียมเข้ารื้อย้ายชุมชนบางส่วนในวันแรก
แผนนี้เป็นแผนที่มองว่าเป็นเพียงพื้นที่จุดเล็กๆ ในกทม. ถ้ามองว่าเล็กก็เล็ก แต่ถ้ามองว่าใหญ่ก็จะมองได้ว่าเป็นการ “ เด็ดดอกไม้…สะเทือนถึงดวงดาว ”
เพราะว่าปฏิบัติการนี้อาจจะกลายเป็น ” แรงเสียดทาน ” ระหว่างหน่วยงานรัฐกับชุมชนที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งหลังยืดเยื้อมาระยะหนึ่ง
การเข้ารื้อย้ายเป็นวัน ” ดีเดย์ ” ที่กทม.กำหนดให้ชาวชุมชนปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการย้ายออกจากพื้นที่เปิดทางไปสู่การปรับโฉม ” ป้อมมหากาฬ ” เป็นสวนสาธารณะ แต่ความสุ่มเสี่ยงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไม่ใช่อื่นไกล แต่เป็นสัญญาณของความรู้สึกที่ปะทะกันระหว่างชาวบ้าน-เจ้าหน้าที่อย่างปฏิเสธไม่ได้
ดูได้จากทันทีที่เปิดปฏิบัติการตั้งแต่เช้าตรู่ของวันดีเดย์ 3ก.ย. ชาวบ้านชาวป้อมมหากาฬหลายสิบชีวิต ได้ออกมารวมตัวที่ลานชุมชน พร้อมปิดกั้นพื้นที่เข้าออกชุมชน ยืนยัน”ต่อต้าน”การเข้ารื้อชุมชนเต็มรูปแบบ
ท่ามกลาง “ความเสี่ยง” ในการปะทะกับเจ้าหน้าที่กทม.ได้ทุกนาที แต่ในพื้นที่เสี่ยงปะทะพบ “ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ” “นางสุนีย์ ไชยรส อดีตรองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ” มาร่วมสังเกตการณ์ครั้งนี้
สถานการณ์ที่ “ตึงเครียด” เริ่มผ่อนคลายลง เมื่อทุกฝ่ายยอมหันหน้าเข้าหากัน โดยพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ยืนยันในวงเจรจาว่า ” กทม.มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามหน้าที่ ตามกฎหมายและคำสั่งศาล เพราะหากกทม.ไม่ทำจะเป็นละเว้นปฏิบัติหน้าที่ การเข้ารื้อย้ายวันนี้จะใช้มาตรการปฏิบัติอย่างนิ่มนวล และจะทำการรื้อเฉพาะบ้านที่แจ้งความประสงค์ร้องขอให้กทม.ช่วยรื้อ จำนวน 13 หลังเท่านั้น ส่วนที่ยังไม่ยินยอม กทม.ก็ยังไม่เข้าดำเนินการเด็ดขาด “
ขณะที่ นางสุนีย์ มองว่า ” หลายฝ่ายต่างก็พูดตรงกันว่าเรื่องนี้มีทางออกที่ชุมชนก็อยู่ได้ การอนุรักษ์ก็ทำได้ เพียงแต่ตอนนี้กทม.ติดกับดักกฎหมาย โดยยืนยันที่จะเดินตามกฎหมาย เชื่อว่าหากมีการเจรจรหารือกันจริงๆ ก็ย่อมหาทางออกร่วมกันได้ ”
สอดคล้องกับ ” สภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ ” หนึ่งในองค์กรที่เป็นร่มใหญ่ของทุกชุมชนทั่วประเทศได้ออกแถลงการณ์ “ ขอกทม.ชะลอแผนรื้อย้ายชุมชน”ป้อมมหากาฬ ” เพราะเป็นห่วงถึงผลกระทบตาอวิถีชาวบ้าน จะกระทบต่อเสียหายมรดกวัฒนธรรมในพื้นที่ เห็นควรให้รัฐใช้พื้นที่ป้อมมหากาฬเปิดเรียนรู้ประวัติศาสตร์เท่านั้น
และก่อนหน้านี้ ” เครือข่ายภาคประชาสังคม ” และนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง ได้ทำจดหมายเปิดผนึกเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เพื่อขอให้ “บิ๊กตู่” มีคำสั่งให้กทม. “หยุดการเข้าครอบครองที่ดิน” พื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬไว้ก่อน และพิจารณาข้อเสนอของภาคีเครือข่ายฯอย่างละเอียด ขณะเดียวกัน “ข้อเสนอ” จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ขอให้กทม.ยุติการรื้อย้ายชุมขนในพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ โดยระหว่างนี้คณะกรรมการสิทธิฯจะเสนอแก้ข้อกฎหมายเพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ในพื้นที่ต่อไปได้
ที่สุดแล้วกระบวนการเจรจา 3 ฝ่ายระหว่างกรรมการสิทธิ ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ และกทม.ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ จะเป็นผลการที่ชี้วัดอนาคตของพื้นที่ป้อมมหากาฬ บนเวทีที่ทุกฝ่ายควร “มีส่วนร่วม” ในการกำหนดความเป็นไปของพื้นที่ทั้งสิ้น ซึ่งกทม.และชาวบ้าน ต้องเปิดพื้นที่ “ตรงกลาง” ร่วมกันหาทางออกเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง โดยยึดประโยชน์ส่วนร่วมให้มากที่สุดอย่างแท้จริง
แต่จากการวิเคราะห์มองว่า “ป้อมมหากาฬ” คล้ายกับอีกหลายชุมชนที่ถูกรัฐเปิดปฏิบัติการเช่นเดียวกัน โดยยกกฎหมายที่ไร้การบังคับใช้มาบังคับใช้จริงจัง ภายใต้แรงหนุนจากคสช. ย้อนดูได้จาก ชุมชนริมคลองลาดพร้าว แฟลตดินแดง จนมาถึงป้อมมหากาฬ ที่อาจจะไม่ใช่จุดสุดท้าย ของปฏิบัติการ “ทวงคืน” ในแผนนี้