ดันส.ว.โหวตนายกฯ สอดไส้ใน“คำถามพ่วง”
ยังเถียงกันไม่จบสำหรับประเด็นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ให้ตรงกับ “คำถามพ่วง” ที่ผ่านประชามติมาด้วยกันเป็นแพคเกจคู่
ฟังดูแล้วอาจจะงงๆ แต่นี่กำลังเป็นเรื่องงงๆที่กำลังวุ่นจริง ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดย “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ควงคู่กับ “ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน” รองประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ สนช.ประสานเสียงต้องการให้สุดซอย
เป็นการชงข้อเสนอให้ “สมาชิกวุฒิสภา 250 คน” มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีพรรคการเมืองได้เลยตั้งแต่การประชุมรัฐสภานัดแรก หรือ ส.ว.มีอำนาจร่วมโหวตนายกฯได้ 5 ปี หากสภาฯไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯได้
งานนี้เกิดการ “งัดข้อ” ระหว่าง “เจ้าภาพ” สนช. ที่อนุมัติให้มีคำถามพ่วง และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในห้วงเวลา30 วัน ที่กรธ.ต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติ
ล่าสุด “สมชาย แสวงการ” หนึ่งใน สนช. เข้าชี้แจงเจตนารมณ์คำถามพ่วงต่อหน้า “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานกรธ. ยืนกรานว่าส.ว.จะต้องมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ
“ส.ว.ในอนาคตมีความสำคัญ ต้องมีส่วนในการร่วมเลือกนายกฯใน 5 ปีแรก ถ้าให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯแค่วาระเริ่มแรกครั้งเดียว ถามว่าเลือกตั้ง มีนายกฯคนใหม่ แต่ไม่ดำเนินการปฏิรูปเลยจะทำอย่างไร ในเมื่อไม่มีบทลงโทษ ซึ่งเคยเกิดมาแล้ว ถ้านายกฯบอกไม่ไปรายงานต่อที่ประชุมรัฐสภาทุก 3 เดือน เพราะในอดีตเคยปรากฏมาแล้วว่า ให้นายกฯมาตอบกระทู้ในสภา แต่ก็ยังไม่มา ดังนั้นควรให้ ส.ว. มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น 5 ปี”
หากดูผิวเผิน อาจดูไม่หวือหวาหรือมีนัยยะทางการเมือง แต่หากมองอีกมุมต้องบอกว่า “หมกเม็ดซ่อนความรู้สึก” กันตั้งแต่ต้น แทนที่จะใส่แบบตรงๆตั้งแต่แรกว่าให้ “ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ” แต่กลับใช้คำว่า “รัฐสภา” แทน งงไหมละ!!
เมื่อคำถามพ่วง ขยายความบานปลายไปจากที่ถามประชาชน จนผ่านประชามติ “ปมร้อน” จึงไปตกอยู่กับ “มีชัย” ต้องกุมขมับ แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ก่อนที่จะถึงด่านศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีก 30 วัน
แน่นอนว่าปรากฏการณ์ครั้งนี้ กลายเป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์อย่างมากทั้งจากบรรดานักการเมือง พรรคการเมืองและนักวิชาการต่างๆ
โดยเฉพาะพรรคเก่าแก่อย่าง “ประชาธิปัตย์” องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคฯ ระบุว่า “เรื่องนี้ไม่มีอะไรต้องตีความ ไม่ว่าจะตีความแบบกว้างหรืออตีความแบบแคบ ดังนั้น สนช.จึงควรทำเรื่องนี้ตรงไปตรงมา อย่าหัวหมอ และไม่ควรคิดว่าประชาชนส่วนมากลงประชามติเห็นชอบคำถามพ่วงแล้วจะมาทำตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ ผมหวังว่ากรธ.จะนำคำถามพ่วงไปใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญด้วยความรอบคอบ ชอบธรรมด้วย”
อีกฟาก “เพื่อไทย” ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคฯ ออกโรงเตือนสนช.ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชน“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้พยายามทำคำถามเพื่อขอทางออกจากประชาชน ซึ่งประชาชนให้ทางออกมาก็ควรจะเป็นทางออกที่เมื่อมีปัญหา มีวิกฤต ไม่ใช่พอรัฐธรรมนูญคำถามพ่วงผ่านก็ตีความให้เข้าข้างตัวเองแล้วหยิบเอาข้อที่เป็นทางออก มาแปลงเป็นเรื่องใหญ่แล้วจะไปแปลงให้เกินเลยจากเจตนารมณ์ของประชาชน อย่าทำแบบนี้ ไม่มีประโยชน์ จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเขาถูกดูถูก”
นอกจากนี้ มีเสียงเล็ดลอดออกมาจาก “รั้วสภาฯ” ว่าสนช.เตรียมหมัดเด็ดไว้ต่อสู้ ด้วยการเตรียมนำหลักฐานบันทึกการประชุมเกี่ยวกับคำถามพ่วงในทุกวาระ เตรียมไว้ให้ศาลรัฐธรรมนูญนำไปประกอบการตัดสินใจด้วย
ดังนั้นหากพิจารณา ทั้งเรื่องคำถามที่แปลงใหม่ให้ “เนียน” ก็ถือว่าได้สองเด้ง ไหนจะตำแหน่ง ส.ว.250 คน ไหนจะนายกฯคนนอก หากทำสำเร็จผ่านฉลุย เรียบร้อยโรงเรียนคสช. ถึงเวลา “แปลงกาย” ซ่อนรูปอยู่ต่อลากยาวกันใหม่อีก 5 ปีแน่นอน
เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะออกมาแบบไหน คำถามประชามติเป็นกลลับ กลลวง แผนซ้อนที่ทำได้แยบยลมาอย่างดี แต่ถ้าพลิกล็อกไม่ผ่าน บอกได้คำเดียวว่างานเข้า “อ.มีชัย” หงายเงิบแน่นอน