จับตาพ.ร.บ.พรรคการเมือง หนทางสู่ Set Zero
ดูเหมือนว่าประเด็น “เซ็ตซีโร่ (Set Zero)” กลับมามีเสียงดังกระหึ่มอีกครั้ง หลังจาก “ร่างรัฐธรรมนูญ” ผ่านความเห็นชอบในการลงประชามติ
“เซ็ตซีโร่” คืออะไร หลายคนคงสงสัย แล้วเหตุผลใดทำไมถึงกลับมากระหึ่มอีกครั้ง
นั่นเพราะว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ขั้นตอนต่อไปของ “กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.” นำโดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” มีภารกิจในการเร่งทำกฎหมายลูก หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 4 ฉบับ จากทั้งหมด 10 ฉบับ เพื่อรองรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
4 ฉบับได้แก่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส.,พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มา ซึ่ง ส.ว.,พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง และสุดท้าย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
ซึ่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เห็นจะเป็นกฎหมายลูกที่เข้าข่ายกับประเด็น “เซ็ตซี่โร่” มากที่สุด นั่นเพราะว่ากฎหมายฉบับนี้มีฤทธิ์เดชในการจัดระเบียบ พรรคการเมืองใหม่ทั้งหมด ที่คาดการณ์กันต่างๆนานาว่าจะถึงขั้นต้องหาสมาชิกพรรคใหม่หมด กำหนดกฎกติกาโครงสร้างพรรคการเมืองใหม่ทั้งหมด และที่ลือกันร้ายแรงคือ ต้องจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่หมด
หมายความว่า พรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด จะสูญพันธุ์ แล้วนับหนึ่งใหม่พร้อมกันภายใต้กติกาใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ขนาดนั้นเชียวหรือ !!!
“สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง เพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องให้พรรคการเมืองไปเริ่มต้นจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองกันใหม่ ที่ผ่านมามีพัฒนาการมาอยู่แล้ว และมีรากฐานที่จะทำให้พรรคการเมืองเกิดความเข้มแข็ง แต่เห็นว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองในอนาคต ควรอยู่ภายใต้ 3 หลักการ คือ ตั้งยาก อยู่ง่าย ยุบยาก
ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมาคือ ตั้งง่าย อยู่ยาก ยุบง่าย จึงเกิดพรรคการเมืองมากมาย 70-80 พรรค มีระเบียบกฎเกณฑ์มาก ต้องให้พรรคการเมืองส่งรายงานและส่งบัญชีค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องจมอยู่กับงานธุรการ
ขนาดกรรมการยังไม่เห็นด้วยขนาดนี้ หรือแม้แต่ “สังศิต พิริยะรังสรรค์” รองประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. คนวงในในการปฏิรูปพรรคการเมืองยังไม่เห็นด้วยกับการเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง
“ผมเชื่อโดยส่วนตัวผมว่ากรรมาธิการจะไม่ทำแบบนั้นหรอกครับ เพราะพรรคการเมืองแต่ละพรรคล้วนแล้วแต่มีประวัติศาสตร์ของเขา ไม่ควรจะไปถึงขนาดล้มล้างเขา ผมว่าไม่ค่อยยุติธรรม”
แต่เรื่องแบบนี้ ลองฟังเสียงของชาวบ้านดูบ้าง จาก “สวนดุสิตโพลล์” ที่ไปสำรวจ “ข้อดี” ของ“เซตซีโร่พรรคการเมือง” พบว่า ประชาชน 75.18% มองว่า การเซ็ตซี่โร่ทำให้ทุกพรรคการเมืองเริ่มต้นใหม่พร้อมกัน เพื่อความเท่าเทียมเป็นธรรม รองลงมา เป็นการกระตุ้นให้แต่ละพรรคตื่นตัว มีแนวคิดนโยบายใหม่ ๆ ประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้น ได้คัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถ
ส่วนข้อเสียพบว่า 82.10% มองว่าจะสร้างความขัดแย้งทางการเมืองพรรคการเมืองมีการซื้อตัวย้ายพรรคกังวลว่าจะกระทบต่อการจัดการเลือกตั้ง ทำให้ล่าช้าออกไป และเป็นการทำลายนโยบายและเสถียรภาพของพรรคการเมือง
ถามว่าช่วยแก้ปัญหาการเมืองไทยได้มากน้อยเพียงใด พบว่า 38.66% เชื่อว่า แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะปัญหาการเมืองไทยฝังรากลึกมานาน แก้ไขได้ยาก นักการเมืองเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ทะเลาะเบาะแว้ง ฯลฯ ส่วนหัวข้อ “เห็นด้วยหรือไม่กับการ “เซตซีโร่พรรคการเมือง”” พบว่า ไม่แน่ใจ 44.39% ,ไม่เห็นด้วย 28.16% และเห็นด้วย 27.45%
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กฎหมายอะไรก็ตาม จะออกมาดีก็ควรฟังเสียงคนที่รับผลกระทบนั้นรอบด้าน “พ.ร.บ.พรรคการเมือง” ก็เช่นกัน
แต่ถ้ารูปร่างของกฎหมายฉบับนี้ ออกมาในรูปของ “Set Zero” ไม่ต้องถามเลยว่า มุมมองของนักการเมืองและพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่คงค้านหัวชนฝา แต่พรรคการเมืองหน้าใหม่ที่กำลังจะเกิดอาจจะยิ้มร่าก็ได้ ใครจะไปรู้ ดูกันยาวๆ