“ม.61” ไร้มลทิน อำนาจ “กกต.” กลับมาเต็มร้อย
ปลดล็อคกันไปอีกประเด็น กับการ “ตีความ” เนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559”
หลังจาก “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 วินิจฉัยว่า “มาตรา 61 วรรคสอง” ของ “ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ” ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 4 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ซึ่งมาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็คทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้น กระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”
“พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์” เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ออกมาเพื่อการดำเนินการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย คุ้มครองการแสดงความคิดเห็นประชาชนให้เป็นไปโดยอิสระ และรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาในอดีต ก็มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี
ส่วนมุมมองของ “จอน อึ๊งภากรณ์” ในฐานะผู้ร้องเรื่องนี้ บอกว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มาตรา 61 วรรคสอง จะถูกต้อง เพราะยังมีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ ซึ่งทำให้ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการรณรงค์ โดยเห็นชัดจากกรณีนิสิต-นักศึกษา ที่ออกมารณรงค์ถูกจับดำเนินคดี และเรื่องดังกล่าวจะทำให้การออกเสียงประชามติของประเทศไทยไม่มีความชอบธรรมหรือยุติธรรม และเป็นการให้เห็นว่าการทำประชามติเป็นการมัดมือประชาชน
“สิ่งที่จะรณรงค์ต่อไปประการแรก คือ จะให้กกต.ยกเลิกประกาศการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ และประการที่สอง อยากให้ตำรวจและทหารเลิกจับกุมดำเนินคดีผู้ออกมาใช้สิทธิแสดงความเห็นการทำประชามติอย่างสันติวิธี”
สำหรับคำว่า “ปลุกระดม ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย” ทีมข่าวการเมือง AEC10News ได้ตรวจสอบ “ความหมาย” จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ทีละคำ มีความหมายดังนี้
ปลุกระดม หมายถึง เร้าใจและยุยงให้ประชาชนลุกฮือขึ้น
ก้าวร้าว หมายถึง เกะกะระราน (ใช้แก่กิริยาและวาจาที่กระด้างและล่วงเกินผู้อื่น)
รุนแรงหมายถึง หนักมาก แรงมาก เกินปรกติ เช่น ดุว่าอย่างรุนแรง คัดค้านอย่างรุนแรง ความคิดเห็นรุนแรง
และ หยาบคาย หมายถึง ไม่สุภาพ เช่น พูดจาหยาบคาย กิริยาหยาบคาย
ซึ่งจากนี้ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญต้องระมัดระวังให้ดี เพราะขณะนี้ “อำนาจ” ของเจ้าพนักงานตามกฎหมายฉบับนี้ที่มอบให้กับ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ กกต. กลับมา Full Power อีกครั้ง
หลังจากช่วงสุญญากาศของการรอตีความกฎหมาย กกต.เองก็ดูยึกๆ ยักๆ ไม่กล้าที่จะใช้อำนาจแบบเต็มไม้เต็มมือ ทั้งที่มีประเด็นเข้าข่ายที่จะกระทำผิดกฎหมาย
“สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง” จึงตอบนักข่าวทันทีที่รู้มติของศาลรัฐธรรมนูญ
“กกต.จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยวันที่ 30 มิ.ย. จะเชิญบรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์สุดสัปดาห์ฉบับหนึ่งและผู้เขียนการ์ตูนของหนังสือฉบับนี้ เข้าพบเพื่อชี้กรณีนำเสนอภาพการ์ตูนตัดต่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำประชามติ”
และจากนี้ก็ต้องจับตากันว่า กกต.จะงัดไม้แข็งตามอำนาจที่มี ดำเนินการกับใครให้เห็นเป็นตัวอย่างหรือไม่ เพราะอำนาจกลับคืนมาแล้ว.