จับตาสงคราม “เฟซบุคไลฟ์” ท้าทายประชามติ”
เมื่อ“Facebook Live”(เฟซบุคไลฟ์)
อีกหนึ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนการสื่อสารของมนุษย์บนโลกให้สื่อสารกันง่ายขึ้นกำลังถูกนำมาใช้เป็น “ช่องทาง” ในการสื่อสารประเด็นทางการเมืองในบ้านเรา
โดยเฉพาะล่าสุดกับประเด็น “ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” ที่จะลงคะแนนวันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค.นี้ ถูกแกนนำกลุ่มการเมืองใหญ่ 2 กลุ่ม “กปปส.” และ “นปช.” นำมาใช้เป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายตัวว่าจะรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ฝ่าย “กปปส.” โดย “ลุงกำนัน-สุเทพ เทือกสุบรรณ” ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน เปิดฉากใช้เจ้าเฟซบุคไลฟ์นี้ก่อน ในการถ่ายทอดสดการพูดสั้นๆ ที่ไม่ต้องนำคำพูดทุกคำมาขยายความต่อ แต่เอาเป็นว่าเนื้อหาสาระเน้นหนักไปทาง “สนับสนุน” ร่างรธน.
“ตนต้องการอธิบายให้หลายคนเข้าใจในแต่ละประเด็น และแต่ละบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าเขียนไว้อย่างไร เช่น เรื่องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการศึกษา ระบบการเลือกตั้งการป้องกันปราบการทุจริตคอร์รัปชัน การปฏิรูปตำรวจ การปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่มีเวลาอ่านรัฐธรรมนูญโดยเราจะช่วยอ่านแทน โดยแต่ละวันคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 นาที”
นี่คือเหตุผลการ Live ของฝ่าย กปปส.
ส่วนฝ่ายคนเสื้อแดงโดย “ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” ประธานกลุ่มนปช. ที่จะใช้คำว่าเลียนแบบบ้างคงไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะฝ่ายนปช.พยายามที่จะพูดเรื่องร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์มาแล้ว โดยเฉพาะการเปิด “ศูนย์ปราบโกง” ที่สุดท้ายก็ต้องพับเรื่องนี้ไป เพราะฝ่ายความมั่นคงไม่อนุญาต
ประธานนปช. จึงหันมาใช้ช่องทางของเฟซบุคไลฟ์ด้วย ในการรณรงค์ “ไม่สนับสนุน” ร่างรัฐธรรมนูญ
“ขอท้านายสุเทพขึ้นเวทีดีเบตตัวต่อตัว นำแต่ละประเด็นร่างรัฐธรรมนูญมาถกเถียงกันในด้านดีและไม่ดี นายสุเทพสนใจหรือไม่ แล้วถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ซัดกันทุกประเด็นประเด็นละ 5 นาที จะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากและไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติ” เรียกว่าเป็นการถ่ายทอดสดความคิดทางการเมืองแบบคู่ขนาน แบบหมัดต่อหมัด ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ที่ไม่มีทีท่าลดละต่อกัน
แต่ต้องไม่ลืมว่า การออกมาฟาดฟันกันประเด็นร่างรัฐธรรมนูญนี้อยู่ภายใต้กฎหมาย “พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2559” ที่มี กกต. ดูแลอยู่ ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้ก็ระบุชัดถึงการรณรงค์ในสิ่งที่ทำได้ ได้ขนาดไหน และไม่ได้อย่างไรบ้าง และแม้ดูแล้วการออกมา “ชน” ของสองฝ่ายจะยังยังไม่ถึงขั้นแบบท้าตีท้าต่อย หรือ ยกมวลชนมาห้ำหั่นกัน แต่เชื่อเถอะว่า “ฝ่ายความมั่นคง” รัฐบาล และคสช. เขาจับตาไว้แล้วกับความเคลื่อนไหวนี้
ขนาด “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.” เองก็ยังมองออกกับการปะทะกันทางความคิดของสองฝ่าย
“ได้เตือนไปแล้วว่าจะผิดกฎหมาย รวมทั้งส่งคนเตือนและเตือนผ่านสื่อ ฝากคนโน้นคนนี้ไปเตือนแล้วทั้งสองคน ถ้าผิดกฎหมายก็ผิดทั้งคู่…และคิดว่าคงจะเข้าใจ”
ที่ไม่รู้ว่า เตือนไปแล้ว พูดไปแล้ว จะมีใครเข้าใจ และ “ปฏิบัติตามหรือไม่” ต้องจับตา.