มรสุมรุมม.61 ความอึดอัดใจของ กกต
กรุณาอ่านให้จบสำหรับจดหมายข่าวของ“สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ”ที่ได้เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่8 มิ.ย.ที่ผ่านมา
โดยเนื้อหาของจดหมายข่าวระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เสนอเรื่องพร้อมความเห็นของให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 61 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเกินความจำเป็นและกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2257 มาตรา 4 หรือไม่
โดยได้มีหนังสือแจ้งผู้ตรวจการแผ่นดินในฐานะผู้ร้องได้รับทราบ พร้อมทั้งเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องจากคณะกรรมการการการเลือกตั้ง (กกต.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในส่วนของเจตนารมณ์ ความเป็นมาและเหตุผลในการบัญญัติมาตรา 61 วรรคสอง
รวมทั้งข้อมูลอื่นใดที่เห็นว่าเกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาของศาลและให้ยื่นต่อศาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 45 วรรคสองประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย 2550 ข้อ 17 (18) ข้อ 25 ข้อ 27 และข้อ 45 นั่นเท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ “รับคำร้อง” ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตรา 61 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า
“ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็คทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้น กระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” ซึ่งต้องติดตามกันยาวๆ กับกรณีนี้ว่าการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลกระทบประการใดกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. นี้หรือไม่
ขณะเดียวกันอีกฟากฝั่งหนึ่งก็มีความพยายามของผู้ที่ “ลองของ” ท้าทายมาตรา 61 ด้วยการส่งต่อข้อความภาพ เกี่ยวกับการยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยระบุว่า “รู้ยัง ถ้าประชามติผ่าน ยกเลิก 30 บาทรักษาทุกโรค ต่อไปนี้ไม่มีแล้วบัตร 30 บาท ต้องใช้บัตรผู้ยากไร้แทน ใครมีบ้าน ถือว่าไม่ใช่ผู้ยากไร้ และคนจนไม่มีสิทธิเจ็บป่วย” เป็นการลองของ ที่ทำเอาบรรดากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ดาหน้าออกมาตอบโต้ทันที
“ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง และเข้าข่ายบิดเบือนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญและเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 ซึ่งทางกรธ.จะนำเนื้อหาดังกล่าวแจ้งไปยัง กกต. เพื่อให้ตรวจสอบและดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ กรธ. จะไม่แจ้งความเพื่อเอาผิดผู้ที่กระทำเรื่องดังกล่าว เพราะไม่ต้องการให้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าว ด้านประธานกรธ.“มีชัย ฤชุพันธุ์” ตอบนักข่าวสั้นๆ แต่หนักหน่วงว่า
“ข้อความที่แชร์ทางสื่อออนไลน์นั้นไม่ใช่แค่บิดเบือนแต่ถือว่าเป็นข้อความเท็จ หากใครคิดจะปราบโกงขอให้มาดูประเด็นนี้ด้วย เพราะเป็นการโกงชัดๆ ไม่มีมูลความจริงเลย ไปเสกสรรปั้นแต่งกันเอง ผมคิดว่าเกิดเป็นมนุษย์ต้องดีกว่าสัตว์ ต้องเห็นแก่ประโยชน์ประเทศและประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและทำทุกอย่างที่ไม่เป็นความจริง”
ซึ่งนี่คือสถานการณ์ที่ค่อนข้างลำบากใจสำหรับ กกต. ในการบังคับใช้ “มาตรา61” เพราะขาข้างหนึ่งก็ถูกท้าทายให้ใช้อำนาจตามมาตรานี้จัดการกับข้อความอันเข้าข่ายกระทำผิดมาตรานี้ แต่ทว่าขาอีกข้างก็กำลังจะถูกตีความว่า มาตรา 61 ในวรรคสองนี้ จำกัดสิทธิเสรีภาพหรือไม่ แล้ว กกต.จะเดินต่ออย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้.