“ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย” 3 คำที่รอ “ตีความ”
จะวุ่นหรือไม่วุ่นต้องติดตามกันยาวๆ หลังจาก ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อ 1มิ.ย. มีมติให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
ให้วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) มาตรา 61 วรรคสองละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่เครือข่ายนักวิชาการซึ่งนำโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร้องเข้ามา
เนื่องจากมีเนื้อหาไม่ชัดเจน คลุมเครือ อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน จนไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และอาจมีการใช้เนื้อหาดังกล่าวไปดำเนินการกับประชาชนได้
“ในความเห็นของผู้ตรวจนั้น มองว่าการที่มาตรา 61 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็คทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้น กระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น แม้จะมีพจนานุกรมระบุความหมายของคำว่า ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย แต่ในทางปฏิบัติก็จะมีความไม่ชัดเจน คลุมเครือ ประชาชนอาจจะสับสน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ขัดต่อเจตนารมณ์ของการออกเสียงประชามติ และอาจจะมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตีความหมายของถ้อยคำดังกล่าวจนอาจนำไปสู่การดำเนินการกับประชาชน” นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว
ซึ่งต้องย้ำว่ามติของผู้ตรวจการในประเด็นนี้ ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแค่ 3 คำ คือ “ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย” ที่จะดูอย่างไรถึงจะเรียกว่ามีพฤติกรรม 3 อย่าง
ความคลุมเคลือตรงนี้ทำให้นึกย้อนไปถึงผลโพลของ “นิด้าโพล-สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์” ที่เคยสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และข้อห้าม กกต.”
จากการสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 34.32 “ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมก่อนจะตัดสินใจลงประชามติ” ร้อยละ 25.04 ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมทุกข้อ และมีเพียงร้อยละ 11.20 บอกว่า “ไม่ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม”
ส่วนที่โพลถามความคิดเห็นต่อประเด็นในข้อห้าม 8 ข้อของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติที่ไม่เข้าใจและต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม
พบว่า ประชาชน ร้อยละ 33.60 ระบุว่า ไม่ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมใด ๆ แต่ร้อยละ 26.40 ระบุว่า ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมทุกข้อ
และร้อยละ 10.96 ระบุว่า ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมในเรื่องการโพสต์อันเป็นเท็จหรือ รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งทั้งหลายทั้งปวง สะท้อนถึงสิ่งที่ไม่รู้จะเรียกว่าพลาด ที่ทำให้เกิด “ความไม่ชัดเจน” ในตัวกฎหมายสำคัญอย่าง “พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559” ที่กำลังบังคับใช้ แล้วนี่ก็เข้าสู่ช่วงนับถอยหลังเข้าสู่วันลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคมนี้แล้วด้วย.
ที่ไม่รู้ว่าความไม่ชัดเจนนี้จะมีทางออกอย่างไร ที่ต้องติดตามกันต่อไป