แค่เจาะรูระบายให้ “พรรคการเมือง” !!!
ปิดฉากเรียบร้อย สำหรับเวที “ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และประชาชน” ที่สโมสรทหารบก มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นเจ้าภาพหลัก พร้อมด้วยตัวแทนจาก แม่น้ำ 5 สาย และตัวแทนจากพรรคการเมืองมากันอย่างพร้อมเพียง รวม 133 คน จาก 77พรรคการเมือง
แน่นอนเป้าหมายสำคัญของการจัดเวทีในคราวนี้ รัฐบาลต้องการให้สถานการณ์ทางการเมือง “ผ่อนคลาย” แต่ก็เป็นการเหยียบคันเร่งในช่วงจังหวะที่เหมาะสม
เห็นได้จาก “รองนายกฯวิษณุ เครืองาม” ระบุว่า “การจัดเวทีครั้งนี้เป็นแนวคิดของ “บิ๊กตู่- พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” ซึ่งต้องการ ผ่อนคลายสถานการณ์ โดยเริ่มต้นในประเด็น การลงประชามติที่จะได้ทำความเข้าใจกัน รวมถึงทำความเข้าใจกับนักการเมือง ในสิ่งที่เขาสงสัยกันอยู่ หากเวทีออกมาดูดีจากนี้อาจจะมีการผ่อนคลายอย่างอื่นอีก”
ทว่าการเปิดเวทีดังกล่าว ด้วยการดึงพรรคการเมืองใหญ่ และพรรคเล็กเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
จึงเกิดคำถามตามมาจากฝ่ายต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับปราบคอรัปชั่น” ว่าเวทีดังกล่าวยังอยู่ในกรอบแบบปิดของคสช.บรรยากาศการทำประชามติอาจไม่ดีขึ้นหรือไม่
เห็นได้จาก “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่า เวทีดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ซึ่งเวทีนี้ต้องเปิดกว้างฟังให้ประชาชนและฝ่ายการเมืองแสดงความคิดเห็นประชาชน
“ทุกคนที่มาวันนี้ ไม่มีใครได้พูดอะไร ฝ่ายที่พูดมากสุดคือรัฐบาล ผมยังไม่รู้สึกถึงเสรีภาพ เพราะผมยังมีความรู้สึกว่า เสรีภาพของผมยังอยู่ในพื้นที่แคบๆ แต่เมื่อใดที่ให้ผมหรือคนที่รับและไม่รับได้พูดนอกรั้วนี้ ด้วยอิสระและเหตุผลตรงไปตรงมา นี่คือบทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล และเป็นข้อเสนอข้อหนึ่งในที่ประชุม”
อีกฟาก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า “ประชาชนมีสิทธิจะรู้มากกว่านี้และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย อยากให้ฝ่ายอื่นๆตระหนักว่าการทำประชามติควรเป็นไปตามธรรมชาติ คสช.และรัฐบาล ต้องวางตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง เนื่องจาก หากมีการกระทำที่ทำให้รู้สึกว่ารัฐธรรมนูญต้องผ่านจากฝ่ายผู้มีอำนาจ หรือรัฐธรรมนูญต้องไม่ผ่านจากฝ่ายที่ต่อต้าน ประเทศก็จะกลับไปสู่ความขัดแย้งเดิม”
ขณะที่ท่าที “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แม้จะติดภารกิจในต่างประเทศ ยอมเปิดไฟเขียวให้พรรคการเมืองพูดได้ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการเมือง ความขัดแย้ง คดีความ เพื่อที่จะได้รู้แนวคิดของแต่ละคน รวมถึงการเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นครั้งนี้ ไม่ได้มีใครกดดัน
หากดูตามรูปการณ์ เกมเริ่มพลิก คสช.ยอมคลายกฎเหล็ก ผ่อนอารมณ์ตึงเครียดในบ้านเมือง หรือเป็นเพียงแค่การหยุดยาแรงชั่วคราว เพราะภายใต้เงื่อนไขที่เกิดขึ้น คสช.รู้ดีว่า หากยังคงใช้ตำรายาแรงแบบเดิม จะไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน และยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ร่างรัฐธรรมนูญ ถูกคว่ำไม่ผ่านประชามติ
แน่นอนว่า ไพ่ใบสุดท้าย “คสช.”คงต้องยอมเปิดใจกว้าง ปล่อยผีให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางเมือง ช่วยเป็นกระบอกเสียงเคาะประตู โปรโมตร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อมัดใจชาวบ้านในพื้นที่ ภายในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
อย่าให้เวทีนี้กลายเป็นแค่ “รูระบาย” ที่คสช. เปิดเสรีให้เฉพาะการนำเสนอแต่ข้อมูลเฉพาะด้านดีๆ ของรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว คงไม่มีฝ่ายใดอยากจะเข้าร่วม เพราะพูดไป คสช. ฟังแต่ไม่ได้ยิน