ดึง “ครู” เป็นแนวรบในช่วง “ประชามติ”
ในเรื่องการทำประชามติ ผมไม่สนใจว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านเป็นเรื่องของพวกท่าน ผ่านก็ผ่านไม่ผ่านก็คือไม่ผ่านผมไม่ว่า แต่อย่าทำผิดกฎหมายและสร้างข้อมูลที่บิดเบือน
กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน การทำประชามติถือเป็นหน้าที่ของทุกคนเพื่อที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งการมีประชาธิปไตยจะต้องมีธรรมาภิบาล ขอให้ประชาชนทำหน้าที่ตามครรลองของประชาธิปไตย อย่าให้บุคคลใดมาชักจูงหรือเอาเปรียบในทางที่ผิด ซึ่งที่ผ่านมานักการเมืองให้แต่เงิน สำหรับผมทำไม่ได้เพราะเท่ากับเป็นการทำร้ายประเทศตัวเอง ทำไม่ได้
วรรคทองท่อนหนึ่งของ “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.” ที่กล่าวบนเวทีที่อาคารชาเลนเจอร์ 1 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในการเป็นประธานการประชุมใหญ่ “นายกรัฐมนตรีพบเพื่อนครู” ที่มีข้าราชการครูจากทั่วประเทศ ประมาณ 25,000 คนเข้าร่วม
ความจริงแล้วในงานนี้ พลเอกประยุทธ์ใช้เวลาพูดบนเวทีนานถึง 1 ชั่วโมงกับอีก 40 นาที ในประเด็นที่หลากหลายวกไปวนมาสลับไปสลับมา แต่ที่อยากให้โฟกัสคือประเภทของกลุ่มคนที่มาฟังนายกลุงตู่ครั้งนี้คือ “ครู-อาจารย์”
คงสงสัยว่าแล้ว ครู-อาจารย์ มีสิ่งใดน่าโฟกัสและมีความสำคัญอย่างไรในกระบวนการประชามติร่างรัฐธรรมนูญตามที่โค้ดคำพูดในท่อนแรก??
คำตอบก็คือ ครู-อาจารย์ ทุกคนมีลูกศิษย์ลูกหาทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันทีเชื่อเถอะว่าครู 1 คน สอนมากกว่า 1 ชั้นเรียน/วิชาเรียน ย่อมมีลูกศิษย์หลักร้อยคนอยู่ในมือ ดังนั้นแน่นอนว่านี่คือการประชุมใหญ่ของครูทั่วประเทศ ย่อมหมายถึงว่าการสื่อสารสิ่งใดอะไรของรัฐบาลในช่วงนี้ย่อมต้องมีเนื้อหาที่เหมาะสมกับเวลา 2 ช่วงคือ 1.เป็นช่วงระหว่างทางของการเตรียมทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. 2.เป็นช่วงที่บรรดาครูและลูกศิษย์กำลังจะมีการเปิดเทอมในภาคเรียนที่ 1/2559
จึงมองได้ว่ารัฐบาลชิงช่วงจังหวะส่งสัญญาณพูดเรื่องประชามติกับครูก่อนเปิดเทอมก่อนที่ครูจะต้องไปเจอลูกศิษย์และจะต้องถ่ายทอดสิ่งที่หัวหน้ารัฐบาลได้พูดบนเวทีต่อไปยังลูกศิษย์ทุกคน และลูกศิษย์ที่แม้จะยังไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนประชามติก็อาจจะนำสิ่งที่ครูพูดให้ฟังไปคุยหรือดีเบตกับผู้ปกครองในบ้านตัวเอง
หรือบางชุมชนผู้ที่มีอาชีพ ครู-อาจารย์ จะได้รับความเคารพเชื่อถือจากบุคคลในชุมชนหรืออาจจะเป็นผู้นำความคิดในชุมชน ดังนั้นหากในชุมชนมีประชุมชาวบ้าน ประชุมผู้ปกครอง หรือสภากาแฟยามเช้าของคอการเมืองที่มีครูร่วมวงจะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากครูนำข้อความจากรัฐบาลกระจายไปถึงชุมชน
ดังนั้น ถ้าผู้เขียนไม่คิดมากไปก็อยากจะเรียกว่า เวทีนี้ลุงตู่ยิงปืนนัดเดียวได้นกมากกว่า 3 ตัว ด้วยซ้ำ ทั้งสื่อสารถึงครู-อาจารย์ ลูกศิษย์ ผู้ปกครองและคนในชุมชน
แต่ก็อย่าลืมความเป็นจริงในสังคมไทยที่รอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีรอยแผลจากความขัดแย้งอย่างมาก สังคมเลือกข้างอย่างชัดเจน แม้กระทั่งคนในวิชาชีพ ครู-อาจารย์ ก็มีบ้างที่หลงเข้าไปในกีฬาสีทางการเมืองจนถอนตัวเองไม่ออกจากวงจรการเมือง ที่เชื่อเถอะว่าแม้กระทั่งยุคนี้ ก็มีทั้งครูที่ชอบและไม่ชอบ รัฐบาล-คสช. ดังนั้นการที่ รัฐบาล-คสช. จะหวังผลในเชิงของการบอกต่อแบบปากต่อปากอาจจะถูกปิดกั้นด้วย “อคติ” ที่จะทำให้ข้อความของรัฐบาลสื่อสารออกมาไม่ถึงปลายทางดังที่ตั้งใจ
“…..ไม่ต้องเชียร์มาก ไม่ต้องส่งสัญญาณสู้ๆ เพราะผมไม่ต้องไปสู้กับใคร เพราะไม่ใช่นักการเมือง อย่ามองผมในแง่ของการเมือง ผมสู้กับตัวเองของผมเท่านั้น สู้กับปัญหา ไม่ต้องมากังวลอะไรกับผม ผมเป็นคนอย่างนี้ เพราะผมเกิดที่ประเทศไทย เติบโตมาในครอบครัวที่เป็นครู มีมากหน่อยก็ตรงที่มีภรรยาเป็นครูด้วย วันนี้เหมือนกับว่าเราเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่ผมจะรังแกครู ขอให้ถือว่าเราเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เราต้องร่วมมือกันคืนความสุขให้กับประเทศ และประชาชน และวันนี้ขอให้ครูคืนความสุขให้กับ คสช.บ้าง ในฐานะที่เราเข้ามาแก้ไข และปฏิรูปในทุกด้านของประเทศ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การศึกษาเพียงอย่างเดียว ขอเพียงอย่างเดียวคือความเข้าใจ ผมไม่ได้ต้องการอะไรอย่างอื่นจากพวกท่าน เพราะผมไม่ได้เข้ามาเพื่อต้องการอะไร ผมมีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของความอบอุ่น ที่ผ่านมาประเทศไทยขาดความอบอุ่นมานาน วันนี้ต้องช่วยกันทำให้คนทั้งประเทศมีความสุข เพราะฉะนั้นขอร้องอย่ามองผมในแง่การเมือง”
ดังนั้นจึงมีวรรคทองท่อนนี้บนเวทีเดียวกันนี้นายกลุงตู่ พยายามละลายพฤติกรรมหรือสลายสีในตัวครูด้วยคำพูดที่ทำให้เห็นว่า “เราเป็นพวกเดียวกัน” แต่ไม่รู้ว่า พูดออดอ้อนขนาดนี้จะลดอคติในใจครูลงได้หรือไม่ ก็ไม่มีใครจะรู้ได้
แต่ที่รู้คือ ได้เห็นความพยายามของรัฐบาลในการดึงครูมาเป็นแนวร่วมในโรดแมพช่วงนี้.