สภาอนุมัติแล้ว ธนาคาร-ค่ายมือถือ ต้องร่วมชดใช้ จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์

สภาอนุมัติ พ.ร.ก. 2 ฉบับ มุ่งสกัดปราบปรามปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมให้ธนาคาร-เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ร่วมชดใช้ค่าเสียหาย
วันที่ 28 พ.ค.68 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ พิจารณา พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 และ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นของร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ ว่า ปัจจุบันมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่บังคับใช้ทางกฎหมายยังมีไม่เพียงพอต่อรูปแบบของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ได้มีการพัฒนาขึ้นของกลุ่มมิจฉาชีพ จึงต้องเร่งพัฒนาแก้ไขปรับปรุง กฎหมายปัจจุบันให้ทันสมัย เหมาะสมและครอบคลุมกับสถานการณ์ในยุคดิจิทัล ที่อาชญากรรมทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การเร่งคืนเงินให้ผู้เสียหาย การอายัดบัญชีม้า การกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ และมาตรการการโอนเงินผิดกฎหมายผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น ดังนั้น การเร่งออกมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่ออุดช่องว่างที่เกิดขึ้นจากความเสียหายแก่ประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ถูกมิจฉาชีพทางออนไลน์หลอกลวงให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ในการอภิปรายมี สส. ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ผลัดเปลี่ยนกันอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่สะท้อนความจำเป็นในการออก พ.ร.ก. ที่จะช่วยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้บริการโทรศัพท์หรือโทรคมนาคม ตลอดจนการทำธุรกรรมด้านการเงิน รวมถึงกรณีที่ประชาชนเป็นผู้เสียหายจะได้รับการช่วยเหลือและติดตามเส้นทางการเงินเพื่อนำเงินมาคืนได้อย่างรวดเร็ว และจะทำให้หน่วยงานเอกชนเกิดระมัดระวังในการปฎิบัติหน้าที่ในการเยียวยาผู้เสียหายได้

นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ สส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นของประชาชนที่ได้รับร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์เห็นว่า จะเป็นความหวังในการช่วยประชาชนได้
เช่นเดียวกับนายจุติ ไกรฤกษ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้กล่าวว่า ตนพร้อมสนับสนุนรัฐบาลในการออกกฎหมายแก้ปัญหาให้ประชาชน เพียงเเต่ขอให้มีความจริงจัง และบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะการจับกุมบัญชีม้าที่เป็นกลุ่ม “ไทยดำ“ ในการเอื้อให้คนต่างชาติมาหลอกคนไทยด้วยกัน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลทำให้จริงและสิ่งจำเป็นต้องแก้เพิ่ม คือ กฎหมายฟอกเงินและเครื่องมือในการแก้ปัญหานี้ โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนที่ขาดแคลนกว่า 8,000 อัตรา รัฐบาลสามารถดำเนินการได้แต่ยังไม่เริ่ม ดังนั้น จึงจะติดตามว่าในงบประมาณ ปี 2569 จะทำการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนได้กี่อัตรา
ด้านนายวิโรจน์ ลักษณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน อภิปรายว่า หาก พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีบังคับใช้ จะเป็นผลดีกับประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 8 และ มาตรา 10 ที่ระบุให้ธนาคารต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายระดับ 30,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าหากธนาคารต้องร่วมรับผิดชอบ จะได้เห็นการปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางออนไลน์ของธนาคารครั้งใหญ่ และธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ จะดำเนินการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องให้เท่าทันโจร และเชื่อว่าจะไม่มีธนาคารใดยอมปล่อยให้ลูกค้าถูกโจรหลอกแล้วตามจ่ายค่าเสียหายชดเชย แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมาย ทำให้ธนาคารไม่มีแรงจูงใจที่จะปรับปรุงระบบความปลอดภัยของตัวเอง จึงเชื่อว่าหากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ความเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญทันที พร้อมย้ำว่ารัฐบาลควรใช้กฎหมายลักษณะนี้ในการผลักดันให้ธนาคาร ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย ที่มีทั้งทุนและเทคโนโลยีออกมาตรการป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ แก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ไม่ใช่แค่ปัญหาอาชญากรรม แต่เป็นภัยคุกคามระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างร้ายแรง ดังนั้น ตนจึงเห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว และเห็นว่าควรมีกฎหมายลักษณะนี้บังคับใช้เป็นระยะเวลานานแล้ว
ภายหลังการอภิปรายเสร็จสิ้น ที่ประชุมมีมติอนุมัติ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ด้วยคะแนนเสียง 452 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมมีมติอนุมัติ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ด้วยคะแนนเสียง 453 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง