เทียบชัดๆ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปชน.-เพื่อไทย

มาดูกัน เทียบชัดๆ ร่างแก้รัฐธรรมนูญ ปชน.-เพื่อไทย
ขณะนี้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา กำลังพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ประกอบด้วย
1)ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) เสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน
2)ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) เสนอโดย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคประชาชน

สำหรับสาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคประชาชน
- กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการที่มีการทำประชามติทั้งหมด 2 ครั้ง (ซึ่งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564)
- ครั้งที่ 1 = ประชามติก่อนที่จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ให้มีการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ (ตามข้อเสนอในร่างแก้ไข รธน. ที่รัฐสภาเห็นชอบ)
- ครั้งที่ 2 = ประชามติหลังจากที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำ รธน. ฉบับใหม่แล้ว เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่าง รธน. ฉบับใหม่ (ที่ถูกจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ)
2.กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 100% โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- 100 คนแบบแบ่งเขต โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง (สมัครเป็นรายบุคคล / ประชาชนเลือกผู้สมัครได้ 1 คน / ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดได้รับเลือก)
- 100 คน แบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง (สมัครเป็นทีม / ประชาชนเลือกทีมผู้สมัครได้ 1 ทีม / แต่ละทีมได้จำนวน สสร. ตามสัดส่วนคะแนนที่ได้รับ)
- ระบบเลือกตั้งที่มี สสร. ทั้ง 2 ประเภท จะทำให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีทั้งตัวแทนเชิงพื้นที่ และตัวแทนเชิงประเด็น-กลุ่มอาชีพ-กลุ่มสังคม
3. กำหนดให้ สสร. มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ (ตราบใดที่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 255)
4.กำหนดให้ สสร. มีกรอบเวลาไม่เกิน 360 วัน ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ สสร. มีเวลาเพียงพอในการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านและทำงานอย่างรอบคอบ ในขณะที่ไม่ทำให้กระบวนการมีความยืดเยื้อจนทำให้เราได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างล่าช้าจนเกินไป
5.กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้สมัคร สสร. ไว้ที่ 18 ปี ซึ่งสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยสากลว่าอายุขั้นต่ำสำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมืองใดๆก็ตาม มักยึดตามอายุขั้นต่ำในการมีสิทธิเลือกตั้ง (“ถ้าโตพอจะโหวตได้ ก็โตพอจะลงสมัครได้”)
6.กำหนดให้ สสร. มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบไปด้วย สสร. ไม่น้อยกว่า 2/3 ของจำนวนกรรมาธิการ (เพื่อให้ กมธ. มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นเสียงส่วนใหญ่) และเปิดพื้นที่ให้กับคนนอกที่ สสร. คัดเลือกและอนุมติ (เพื่อให้ กมธ. มีพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ ที่อาจไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยตรง)
7.กำหนดให้ สสร. มีอำนาจจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) และส่งให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ (ถ้ารัฐสภาไม่เห็นชอบ พรป. ฉบับไหนของ สสร. รัฐสภาจะมีอำนาจรับไปทำต่อเอง) เพื่อประหยัดเวลาและป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
8.กำหนดให้ สสร. สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ โดยไม่ถูกกระทบจากการยุบสภาฯ หรือ จากการที่สภาฯหมดวาระ เพื่อความต่อเนื่องของ สสร. ในการทำงาน และของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
9.กำหนดให้ สสร. ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง (เช่น สส / สว / รัฐมนตรี / ผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น / ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ / ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ) ภายใน 5 ปีแรก เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
10.ปรับเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ (มาตรา 256) โดยกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้ หาก
- ได้รับความเห็นชอบเกิน ½ ของสมาชิกรัฐสภา (ซึ่งประกอบไปด้วย สส. ที่มาจากการเลือกตั้ง และ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) และ
- ได้รับความเห็นชอบเกิน ⅔ ของสภาผู้แทนราษฎร (ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน)
- (เฉพาะในกรณีที่เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านประชามติ
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย มีสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ส่วนหนึ่งระบุไว้ว่า เป็นการแก้ไขในบางหมวดบางเรื่องตามที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวด ทำให้ไม่อาจแก้ไขได้ ซึ่งขัดต่อหลักการทั่วไปของรัฐธรรมนูญที่ดี ที่ต้องให้รัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นพลวัตไม่ใช่การหยุดนิ่ง เพราะต้องการให้แก้ไขได้เมื่อยามประเทศต้องการให้เกิดการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงภายในประเทศหรือสถานการณ์โลก อีกทั้งรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้นภายใต้สถานการณ์พิเศษประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และมีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย
รายละเอียดของการแก้ไขมาตรา 256 นั้น มีสาระสำคัญ คือ การตัดหลักเกณฑ์ที่ต้องใช้เสียง ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และเสียงของ ส.ส.ฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า 20% ออกจากกระบวนการเห็นพ้องชั้นการลงมติวาระแรก และวาระสามจากเดิมที่กำหนดไว้
ขณะที่หมวดใหม่ 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน พร้อมกำหนดข้อห้ามของบุคคลที่จะสมัครเป็น สสร.ไว้ คือ เป็นข้าราชการการเมือง เป็น ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี และมีลักษณะต้องห้ามตามลักษณะต้องห้ามเดียวกันกับการสมัครเป็น ส.ส. ส่วนระยะเวลาการเลือกตั้ง สสร. นั้น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเลือกตั้งภายใน 60 วัน เมื่อเลือกตั้งเสร็จให้ กกต.รับรองภายใน 15 วัน
ขณะที่การจัดทำรัฐธรรมนูญกำหนดให้ สสร. ตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 47 คน มาจากการแต่งตั้งจาก สสร. 24 คน โดยกำหนดคุณสมบัติคือ ต้องเชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ และอีกจำนวน 23 คนนั้น ให้สสร.แต่งตั้งจากการเสนอชื่อโดยสภาฯ 12 คน ส.ว. 5 คน และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) 6 คน พร้อมกับกำหนดระยะเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ ให้เสร็จภายใน 180 วัน จากนั้นต้องส่งให้รัฐสภาเห็นชอบภายใน 30 วัน เมื่อรัฐสภาเห็นชอบแล้วให้นำไปจัดการออกเสียงประชามติ
นอกจากนั้นยังให้สิทธิ รัฐสภามีอำนาจเสนอความเห็นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ สสร. ดำเนินการได้ด้วย ซึ่งกำหนดเป็นบทบังคับ ให้ สสร.แก้ไขภายใน 30 วัน พร้อมกับให้ลงมติยืนยันด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของ สสร.ที่มี จากนั้นจึงส่งให้ กกต.ทำประชามติ แต่หาก สสร.ลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ให้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป และให้อำนาจ สสร.ชุดเดิมยกร่างใหม่ภายใน 90 วัน