พรรคประชาชน สรุปผลเลือก ได้ 1 นายก อบจ.132 ส.อบจ.
ปชน.แถลงหลังทราบผลเลือกตั้ง อบจ.
(2 ก.พ.68) ที่อาคารอนาคตใหม่ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย นายศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน และ นายวีระเดช ภู่พิสิฐ ว่าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ร่วมแถลงข่าวหลังทราบผลการเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. อย่างไม่เป็นทางการ พร้อมเปิดแผนการทำงานในอนาคตของพรรคประชาชน หลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่จังหวัดลำพูน
โดยนายณัฐพงษ์ระบุว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชน ตนต้องขอโทษประชาชน ที่พรรคประชาชนยังไม่ประสบความสำเร็จในการรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นได้มากเท่าที่ควร และวันนี้พรรคประชาชนก็ยังไม่สามารถบรรลุการมีนายก อบจ. ในหลายจังหวัดได้
อย่างไรก็ตาม ตนขอขอบคุณประชาชนชาวลำพูนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จนมีสัดส่วนผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งสูงที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่งเมื่อเทียบกับอีก 47 จังหวัดที่เหลือ และเป็นที่มาที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาชนได้นายก อบจ. ในจังหวัดลำพูน แต่ก็ยังเป็นที่น่าเสียดายโอกาส ที่หากพรรคประชาชนสามารถรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิได้มากกว่านี้ ก็อาจจะชนะการเลือกตั้งในระดับ อบจ. ได้อีกหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ นครนายก สมุทรปราการ ตราด และสมุทรสงคราม ที่พรรคประชาชนแพ้ผู้ชนะอันดับที่ 1 ไปไม่ถึง 10% เท่านั้น
ส่วน ส.อบจ. พรรคประชาชนได้รับความไว้วางใจจากประชาชนรวม 132 คนจาก 33 จังหวัด มาจากจังหวัดที่พรรคประชาชนส่งผู้สมัครนายก อบจ. 80 คน และจังหวัดที่ไม่มีผู้สมัครนายก อบจ. 52 คน ซึ่งพรรคประชาชนยืนยันว่าการทำงานในระดับ ส.อบจ. สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของ อบจ. ได้อย่างแข็งขัน รวมถึงผลักดันการบรรจุบงบประมาณและโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชานในพื้นที่ได้
นายณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับการทำงานไปข้างหน้าของพรรคประชาชนในจังหวัดลำพูน มีทั้งสิ่งที่พร้อมทำงานขับเคลื่อนทันทีในนโยบายที่พรรคประชาชนได้นำเสนอไว้ ลงรายละเอียดนโยบายไปถึงระดับพื้นที่ ภายใต้ฐานข้อมูลการพัฒนาเมือง (City Data Platform) รวมทั้งข้อมูล GIS หรือข้อมูลเชิงพื้นที่ เช่น จุดกำเนิดไฟป่า พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ความกระจุกตัวของชุมชนหมู่บ้าน โครงข่ายถนน จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์ในการจัดทำนโยบายต่อจากนี้
ยกตัวอย่างเช่น การยกระดับ รพ.สต. ให้สอดคล้องกับความกระจุกตัวของชุมชน เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลศูนย์ต่างๆ ในจังหวัด รวมถึงการปรับปรุงถนนหนทางและไฟส่องสว่าง แก้ปัญหาน้ำท่วม สิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ ฯลฯ ซึ่งว่าที่นายก อบจ.ลำพูนพร้อมลงมือทำงานต่อจากนี้ ทั้งในช่วงที่มีการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 2568 รวมถึงการปรับปรุงแผนปฏิบัติราชการท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การจัดทำงบประมาณปี 2569
โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงพฤษภาคม 2568 เป็นช่วงที่พรรคประชาชนจะเดินทางไปทั่วทุกพื้นที่ของจังหวัดลำพูน เพื่อสอบถามประชาชนว่าจุดไหนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากน้อยกว่ากัน นำแพลตฟอร์มการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมมาใช้ และเปิดเผยการใช้และตั้งงบประมาณอย่างโปร่งใส โดยนำองค์ความรู้ที่มีจากคณะก้าวหน้ามาผนวกกับการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาจังหวัดลำพูนให้ดีกว่าเดิม
นายณัฐพงษ์ยังกล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้พรรคประชาชนจะยังคงมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานการเมืองระดับท้องถิ่นต่อไป ทั้งในระดับ อบจ. รวมถึงระดับเทศบาลและ อบต. ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้นี้ ภายใต้แนวทางการทำงานเชิงพื้นที่ที่พร้อมลงไปเก็บเกี่ยวปัญหา รวบรวมประเด็น เปิดให้มีประชาชนมีส่วนร่วม โดยตนเชื่อว่า อบจ.ลำพูนจะเป็นสนามแรกที่จะพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า การทำงานการเมืองท้องถิ่นแบบพรรคประชาชนจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ประชาชนชาวไทยได้
ในส่วนของศรายุทธิ์ ระบุว่า ที่ผ่านมามีประชาชนและสื่อมวลชนหลายคนอยากทราบว่าการเลือกตั้งวันเสาร์มีผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบข้อมูลที่น่าสนใจคือสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิลดลงจาก 62% มาอยู่ที่ประมาณ 55% หมายความว่าคะแนนหายไป 7-8% หรือราว 2 ล้านกว่าคนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งน่าจะมีผลมาจากการเลือกตั้งวันเสาร์ โดยบางจังหวัดมีผู้มาใช้สิทธิลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ที่จันทบุรีสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งลดลงถึง 15% ภูเก็ตลดลงกว่า 11% นนทบุรีลดลงกว่า 9% สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และระยอง ลดลงกว่า 7-8% ซึ่งจำนวนตัวเลขผู้ไม่ได้มาใช้สิทธิแต่ละที่อาจจะส่งผลต่อผลการเลือกตั้งด้วย
จากสิ่งที่เกิดขึ้น กกต. ควรต้องทบทวนการประกาศเลือกตั้งในวันเสาร์ ว่าสอดคล้องกับการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนหรือไม่ การเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นบทพิสูจน์หนึ่งว่าการเลือกตั้งวันเสาร์ไม่ตอบโจทย์ต่อการใช้ชีวิตจริงและการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน
นายศรายุทธิ์ยังกล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ มีสองจังหวัดที่พรรคประชาชนยังมีความสงสัย นั่นคือกรณีเชียงใหม่และสมุทรปราการ โดยเฉพาะประเด็นการมีบัตรเสียจำนวนมาก โดยทั้งผู้สมัครนายก อบจ. รวมถึงกองอำนวยการเลือกตั้งจะติดตามตรวจสอบต่อไป ซึ่งบ่ายนี้ทางพรรคประชาชนจะดำเนินการยื่นเรื่องกับ กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบบัตรเสียว่ามีจำนวนถูกต้องตามที่มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่ต่อไป