พ.ร.บ.สุราชุมชน เมื่อประกาศใช้ จะทำอะไรได้บ้าง
- กฎหมายสุราชุมชน ผ่านสภาแล้ว รอ สว.พิจารณา
- เมื่อประกาศใช้ จะทำอะไรได้บ้าง
ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติ ’เห็นชอบ‘ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ … พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.สุราชุมชน ในวาระ 3 ด้วยเสียงเห็นชอบ 415 เสียง
ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่่ … ) พ.ศ. … มีสาระสำคัญอยู่ที่การแก้ไขมาตรา 153 ว่า “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุรา หรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
การขออนุญาต และการออกใบอนุญาต ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดกฎกระทรวง”
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากกฎหมายใหม่นี้
1) ลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่ และส่งเสริมการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการรายย่อย ให้ประชาชนที่อยากประกอบอาชีพอย่างถูกต้อง มีช่องทางได้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย
2) ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรในประเทศ ให้เกษตรกรมีโอกาสใหม่ในการสร้างได้รายได้เพิ่มขึ้น
3) เพิ่มการจัดเก็บรายได้ทางภาษีแก่ภาครัฐ จากการนำสินค้าที่ผลิตแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายเข้าสู่ระบบ และโอกาสจากการต่อยอดผลิตภัณฑ์สุราเป็นสินค้าส่งออกมากขึ้น
4) ส่งเสริมให้วัฒนธรรมสุราชุมชน เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ ที่จะสร้างการรับรู้และยอมรับของชาวต่างชาติ ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอาหารต่อไป
สาระสําคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ
- ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถประกอบอาชีพของตนได้ โดยไม่สร้างเงื่อนไขหรือภาระให้แก่ผู้ขออนุญาตเกินความจําเป็น
- เปิดโอกาส ให้สถาบันเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน ได้เข้าถึงใบอนุญาตเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานราก
- ต้องไม่กําหนดถึงกําลังการผลิตและทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ แต่ให้คํานึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสําคัญด้วย
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังกฎหมายประกาศใช้
เมื่อร่างกฎหมายผ่าน และมีผลบังคับใช้ จะนำไปสู่การออกกฎกระทรวงเรื่องการผลิตสุราฉบับใหม่ โดย กมธ. มีข้อสังเกตร่วมกันว่าดังนี้
- จะต้องไม่มีการนำหลักเกณฑ์เรื่อง กำลังแรงม้าของเครื่องจักร จำนวนคนงาน ขนาดกำลังการผลิตสุรา ปริมาณการผลิต ทุนจดทะเบียน ระยะเวลาในการประกอบกิจการ การจัดทำ EIA มาเป็นมาสร้างเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะของการผูกขาดทางเศรษฐกิจ
- จะไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขการขออนุญาตผลิตสุรา แบบขั้นบันไดได้อีกแล้ว จากเดิมที่ผู้ประกอบการจะต้องขอทำโรงสุราขนาดเล็กมาก่อน 1 ปีก่อน จึงจะสามารถขอทำโรงสุราขนาดกลางได้ จากนี้ใครมีความพร้อมในการทำโรงสุราขนาดใดก็สามารถขอทำโรงสุราขนาดนั้นๆ ได้เลย
- การผลิตเบียร์จากเดิม หากจะบรรจุกระป๋อง หรือขวดขาย จะต้องทำเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ได้รับการเห็นชอบรายงาน EIA ซึ่งหมายความว่า คุณต้องมีปริมาณการผลิต 7.2 ล้านลิตรต่อปี จะต้องปรับแก้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถทำได้เช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผลิตเบียร์สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลางที่ได้มาตรฐานเช่นเดียวกัน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงเบียร์ที่เป็นโรงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น
- จะต้องไม่กำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำ จากเดิมผู้ประกอบการที่ต้องการจพทำเหล้าสี จะต้องผลิตไม่น้อยกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน หลังจากนี้จะไม่มีเงือนไขนี้แล้ว และจากเดิมที่อนุญาตเฉพาะกลุ่มบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล หลังจากนี้กลุ่มสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน ก็สามารถทำได้เช่นกัน
- โรงสุราขนาดเล็ก หรือกลาง สามารถตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำได้ แต่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย (โรงใหญ่ตั้งได้อยู่แล้ว และมีระบบบำบัด)
- รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกียวข้องควรจะพิจารณาแบ่งประเภทสุราใหม่ ให้มีการแสดงชื่อสุราบนฉลากที่มีความหลากหลายมากขึ้น
- รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกียวข้องควรจะพิจารณา ให้มีสามารถมีการบรรจุสุราในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กได้ เพื่อเป็นของใฝากสำหรับนักท่องเที่ยว
- การขอใบอนุญาตผลิตสุรากลั่น และสุราแช่ สามารถใช้ที่อยู่เดียวกันได้ (สุราบางชนิดใช่ทั้งกระบวนการกลั่นและแช่ จากเดิมต้องย้ายโรงงานกันหรือส่งวัตถุดิบไปอีกโรงงานหนึ่ง)
- ควรออกมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมเกษตรกรที่นำสินค้าเกษตรในท้องถิ่นมาผลิตเป็นสุรา และ
- โรงเบียร์ขนาดเล็กและกลาง ที่ไม่สามารถติดตั้งเครื่องพิมพ์เครื่องหมายแสดงการเสียภาษี(หลักล้าน) ให้มีการพิจารณาให้มีการซื้ออากรแสตมป์มาติดได้
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … กล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงสาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ คือการเพิ่มเติมความในมาตรา 153 เพื่อกำหนดกรอบในการออกกฎกระทรวง เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง ให้เปิดกว้างมากขึ้น ภายใต้ 2 ประเด็นหลัก คือ
1) ต้องสนับสนุนให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน องค์กรเกษตรกร หรือ
ผู้ประกอบการรายย่อย สามารถขอรับใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้าได้ โดยไม่ใช้หลักเกณฑ์ที่เป็นการเลือกปฏิบัติหรือผูกขาดทางเศรษฐกิจโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระเกินสมควร
2) ต้องสนับสนุนการใช้สินค้าเกษตรในประเทศมาผลิตหรือนำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตสุราทุกประเภท
ทั้งนี้ ยังดำรงในหลักการเดิมว่า การผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสุราไว้ในครอบครอง ไม่ว่าด้วยวัตถุประสงค์ใด ยังคงต้องมีการขออนุญาต เพื่อให้หน่วยงานของรัฐรับทราบและสามารถควบคุมผลกระทบจากการลักลอบผลิตอย่างผิดกฎหมายได้ ซึ่งไม่ใช่ “สุราเสรี” ที่เปิดให้ทุกคน ผลิตสุราโดยขาดการควบคุม ซึ่งแตกต่างจากร่าง “สุราก้าวหน้า” ของพรรคประชาชน ที่สภาผู้แทนราษฎรเคยมีมติ “ไม่รับหลักการในวาระ 1“ เพราะมีหลักการที่จะให้การขออนุญาตผลิตสุราต้องทำเมื่อผลิตเพื่อการค้าเท่านั้น