เปิดฉายา ตำรวจ ปี 67 ฮือฮา “อย่าเล่นกับระบบ แจ๊ะ”
เปิดฉายา ตำรวจ ปี 67 ผบ.ตร. “กัปตันเรือกู้” ฮือฮา “อย่าเล่นกับระบบ แจ๊ะ”
วันที่ 27 ธ.ค.67 สมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย นำโดย นายไพโรจน์ เทศนิยม นายกสมาคมฯ แถลงตั้งฉายาตำรวจประจำปี 2567 ซึ่งการตั้งฉายาในครั้งนี้ เกิดจากการที่ผู้สื่อข่าวสายงานด้านอาชญากรรมได้ทำงานใกล้ชิดกับแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดปีที่ผ่านมา และได้เฝ้าติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจนำเสนอผลงานสู่สายตาประชาชน เพื่อสะท้อนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
อีกทั้ง ในทุกปีได้ร่วมกันตั้งฉายาตำรวจประจำปีขึ้น ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยปราศจากอคติส่วนตัว ซึ่งเกณฑ์ในการตั้งฉายานั้น มีการประชุมร่วมกันกับตัวแทนสื่อมวลชนจากสังกัดต่างๆ เสนอรายชื่อนายตำรวจเข้ามา และคัดเลือกในปีนี้เหลือเพียง 10 นาย ดังนี้
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฉายา “กัปตันเรือกู้”
ซึ่ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรในวันที่ประชาชนสิ้นหวังกับตำรวจ ต้องเผชิญกับมรสุมวิกฤติศรัทธาต่อประชาชน ถือว่าเป็นงานสำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งในวงการสีกากี 7 ตำรวจรุมทำร้ายประชาชน จ.ส.ต.เมากร่าง ยิงปืนขู่หน้าผับ ทองหล่อ และอีกหลายเรื่องที่จะต้องกอบกู้ ความศรัทธา ความเชื้อมั่น ความปลอยภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนกลับคืนมา จึงมอบนโยบาลให้แก่ตำรวจ 15 ข้อ ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นตำรวจมืออาชีพ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส เพื่อให้เกิดความผาสุกแก่ประชาชน และที่สำคัญ ผู้บัญชาการ ผู้บังคับการ จะต้องเป็น อินฟลูเอนเซอร์ ด้วยตนเอง ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของฉายา “กัปตันเรือกู้”
พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วยผบ.ตร. ได้ฉายา “สุมาอ้อ ยอดกุนซือ”
ซึ่งพล.ต.ท.อัคราเดช ถือว่าเป็นนายตำรวจฝีมือดีอีกท่านหนึ่งที่ทำงานเชิงรุกเก่งทั้ง บู๊และบุ๋น ด้วยความสามารถบวกกับการทำงานเชิงรุก ยอมหักไม่ยอมงอ ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้คุมหน้างานภารกิจสางคดีสำคัญมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุดทำคดี บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ก่อนรวมรวบพยานหลักฐาน เปิดปฏิบัติการ หนุมานถล่มกรุง ‘ดิไอคอน’ เปิดฉากล่า 18 บอส ดิไอคอน ได้ภายในวันเดียวจบ ล่าสุด คดีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง สจ.โต้ง เปิดยุทธการทลายรังนักเลงปิดล้อมปราจีนบุรี ล็อกเป้าลุยค้น 3 วัน 59 เป้าหมายยึดอาวุธเพียบ เปรียบเสมือน “สุมาอี้” จากเรื่องสามก๊ก ที่วางแผนกลยุทธ์ให้ขุนผลเผด็จศึก สื่อมวลชนจึงมอบฉายา “สุมาอ้อ ยอดกุนซือ ”
พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้รับฉายา “มือปราบหน้านิ่ง”
ซึ่ง พล.ต.ท.สำราญ ได้มาด้วยบุคคลิกที่สุขุมนุ่มลึก โดยเฉพาะใบหน้าที่ไม่มีการยิ้มให้เห็น น้อยคนนักที่จะเห็นรอยยิ้มของท่าน แต่เป็นนายตำรวจหนุ่มที่มีไฟแรง มากฝีมือได้รับมอบหมายงานด้านปราบปราม โดยเฉพาะยาเสพติด – เด็กแว้น – น้ำมันเถื่อน ในรอบปีที่ผ่านมาจับกุมยาบ้ากว่า 1,000 ล้านเม็ด เฮโรอีน กว่า 1,000 กก. ยาไอซ์กว่า 20,000 กก. เด็กแว้น 40,933 ราย และยึด อายัดทรัพย์สินความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดรวมกันไม่น้อยกว่าหมื่นล้านบาท ถึงแม้จะมีการแถลงข่าวท่านก็ไม่เคยยิ้มจึงเป็นที่มาของฉายา “มือปราบหน้านิ่ง”
พล.ต.ท.สยาม บุญสม รรท.ผบช.น. ฉายา “สยาม เนรมิต”
ซึ่ง พล.ต.ท.สยาม ถือเป็น “ม้ามืด” ในการแต่งตั้งนายพลใหญ่ที่ผ่านมา ชนิดที่เรียกว่าพลิกโผ ล้มกระดานเซียน เรียกได้ว่าดุดดัง “เนรมิต” มาเลยก็ว่าได้ เนื่องจากกรุงเทพฯ มีคดีอาชญากรรมข้อนข้างสูง ผู้ใหญ่หลายท่าน จึงอยากให้มาคุมเมืองหลวงเพื่อที่จะให้คดีอาชญากรรมลดลง แต่เมื่อส่องดูประวัติ พบว่า “บิ๊กหยาม” ถือเป็นนายตำรวจที่มีความรู้ความสามารถ ผ่านการทำงานมากมาย อีกทั้งเคยเป็นผู้บังคับการคนแรก ของกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 เคยดำรงตำแหน่งเป็น ผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และสมัยที่ดำรงตำแหน่งรอง ผบช.น. ก็ได้รับมอบหมายหน้างานสำคัญ ด้านกิจการพิเศษ ซึ่งไม่ขาดตกบกพร่อง จึงไม่แปลกที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ผบช.น. จึงได้รับฉายา “สยาม เนรมิต”
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ฉายา “ไซเบอร์อรรถ จัดเต็ม”
พล.ต.ท.ไตรรงค์ มีชื่อเล่นว่า “อรรถ” หลังเข้ามารับตำแหน่ง “แม่ทัพไซเบอร์” ได้มอบนโยบายแก่กำลังพล ชูวิสัยทัศน์ต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน – ลดภัยออนไลน์ ขณะเดียวกันได้งัดคำสั่ง ตร.คุมพฤติกรรมลงดาบฟันวินัย – อาญา “ตร.นักบิน” ที่มีพฤติกรรมนอกลู่นอกทางแอบตีกินจับนอกเขตจนเสียชื่อหน่วย พร้อมขันนอตขุนพลไซเบอร์ต้องมีผลการปฏิบัติทุกวัน ลั่นมีเวลาแค่ 10 เดือนคุมทัพ ตั้งเป้า 3 แสนคดีออนไลน์ที่ค้างต้องเคลียร์ให้จบ ทำให้ระยะเวลาไม่ถึงเดือนเดินหน้าปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ ชนิดที่ว่ามีงานให้ออกแทบทุกวัน โดยแต่ละคดีจัดหนักจัดเต็ม จึงได้ฉายา “ไซเบอร์อรรถ จัดเต็ม”
พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. ฉายา “นพ รอได้”
ซึ่ง พล.ต.ต.นพศิลป์ เป็นนายตำรวจผู้มากด้วยฝีไม้ลายมือ ขึ้นชื่อเรื่องงานสืบสวนระดับบรมอาจารย์ บ่อยครั้งมักจะถูกดึงตัวมาอยู่ในชุดทีมคลี่คลายคดีสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลายยุคหลายสมัย และด้วยผลงานที่ประจักษ์ต่อสังคม และสายตาประชาชน ทำให้ถูกจับตาจากสื่อมวลชน สายตำรวจว่าในการแต่งตั้งวาระนายพลใหญ่ “รองนพศิลป์” มีสิทธิ์ที่จะถูกเสนอชื่อขึ้นเป็น ผู้บัญชาการ ติดยศ “พล.ต.ท.” แต่สุดท้ายแม้คุณสมบัติจะครบถ้วน แต่ไม่ได้รับการเสนอชื่อถูกขีดเส้นอาวุโส 4 ปี พูดตามประสาชาวบ้านถูกชักบันไดหนีจนชื้อหลุดกระดาน ทั้งที่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติปี 2565 ระบุคุณสมบัติชี้ไว้ชัดเจน ตำแหน่ง ผบช. และ จเรตำรวจ จะแต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศ พล.ต.ต. หรือ พล.ต.ท.เคยดำรงตำแหน่งระดับ รอง ผบช.หรือ รองจเรตำรวจมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ขณะที่เจ้าตัวยิ้มรับ “ยอมรับกติกา”ก้มหน้าทำงาน จึงเป็นที่มาของฉายา “นพ รอได้”
พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รองผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ฉายา “เม่นรับจบ”
ซึ่ง พล.ต.ต.พันธนะ มีชื่อเล่นว่า “แม่น” เป็นนายตำรวจฝีมือดีที่ทำงานเชิงรุกจนได้รับความไว้วางใจดูแลงานสืบสวนของหน่วยงาน ขณะเดียวกันยังได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เป็น ตัวแทนออกหน้าในการแถลงข่าวเผยแพร่การทำงาน รวมถึงภารกิจต่างๆ ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เห็นได้จากทุกครั้งที่มีการแถลงข่าวหรือประชาสัมพันธ์งานของ สตม. จะเห็นรองเม่น ปรากฏตัวเป็นหน้าเป็นตาให้หน่วย และด้วยบุคลิกที่เข้าถึงง่าย วางตัวเป็นกันเองทำให้เป็นที่รักของสื่อมวลชน เวลาที่นักข่าวจะสอบถามความคืบหน้าในคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะนึกถึงแต่ “รองเม่น” ที่จะเป็นผู้ให้รายละเอียดและชี้แจงต่างๆ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างตำรวจ ตม. และสื่อมวลชน เรียกว่าครบถ้วนในคนเดียว จึงได้ฉายา “เม่น รับจบ”
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก ฉายา “อินฟลูฯ เต่ากัดไม่ปล่อย”
ซึ่ง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ เป็นนายตำรวจที่ไม่เคยเกรงกลัวอิทธิพลหรืออำนาจมืดใดๆ สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักจากการเป็นตำรวจที่ปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพล – ข้าราชการฉ้อฉล คดีใดที่อยู่ในมือ ซึ่ง “รองเต่า” มักไม่ปล่อยผ่านไปง่ายๆ ทำให้สุดซอย ขยายผลทุกมิติ ล่าสุดกับกรณี “คลิปเสียงเทวดา” ตบทรัพย์ “ดิไอคอน” ก็ตามล้างตามเช็ดจับกุมบรรดานักร้องเรียน – นักการเมือง ที่ทำตัวเหนือกฎหมาย ใช้หน้าที่โดยไม่ชอบขู่กรรโชกทรัพย์ และด้วยภาพลักษณ์สไตล์การทำงานที่ถึงลูกถึงคน กล้าได้กล้าเสีย มุทะลุดุดัน สื่อมวลชนจึงให้ฉายา “ อินฟลูฯ เต่ากัดไม่ปล่อย”
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนนครบาล (สส.บชน.) ฉายา “กุนซือมือฉมัง”
โดย พล.ต.ต.ธีรเดช หนึ่งในลูกหม้อนครบาล ด้วยฝีมือระดับตำนานนักสืบ ผ่านการฝึกฝนตำราสืบสวนมาอย่างมากมาย มีผลงานโดดเด่นด้านการสืบสวนเทียบชั้นครู ขณะเดียวกันยังถ่ายทอดประสบการณ์บนเส้นทางนักสืบให้กับนักสืบรุ่นหลัง ผ่านโครงการ “หลักสูตรสืบสวนคดีอาญา” ปลุกปั้นนักสืบรุ่นใหม่ ช่วยงานสืบสวนนครบาล ปราบอาชญากรรม ในช่วงปีที่ผ่านมาสามารถติดตามจับกุมตามหมาจับได้ 2,753 หมาย และคดีสำคัญที่เกิดขึ้นสดๆอีก 446 คดี ในการจับกุมคนร้ายต่างๆ “ผู้การจ๋อ” จะคอยให้คำแนะนำทีมงานเป็นกุนซือที่คอยวางแผน และไม่เคยพลาด จึงเป็นที่มาของฉายา กุนซือมือฉมัง
พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ สว.กก.สส.3 บก.สส.บช.น. ฉายา “อย่าเล่นกับระบบ แจ๊ะ”
ซึ่ง พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ หรือ “สารวัตรแจ๊ะ” นายตำรวจดาวรุ่งตัวตึง ของกองบังคับการสืบสวนนครบาล นรต.รุ่น 69 ศิษย์ก้นกุฏิ “ผู้การจ๋อ” ผ่านประสบการณ์ร่วมทำคดีสำคัญๆ มามากมาย ด้วยบุคลิกโดดเด่นสะดุดตา สวมหมวกไหมพรม ใส่แว่นตา ปิดแมสก์ กางเกงยีนส์ทรงกระบอก ขาดๆ ทับด้วยแจ๊กเก็ต บก.สืบนครบาล ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทะมัดทะแมง อ่านหมายจับอย่างฉะฉาน…แฝงไปด้วยความสุภาพ อีกทั้งมีคำพูดติดหูประจำตัว “อย่าเล่นกับระบบ” และด้วยแคแร็กเตอร์ที่เด่นชัดนี่เอง ทำให้โด่งดังรันทุกวงการ ถึงขนาดที่ว่า ดาวตลกหนุ่ม แจ๊ส ชวนชื่น หยิบเอาวลีฮิตกระฉ่อนโลกออนไลน์ของนายตำรวจหนุ่มมาดเซอร์ไปตั้งชื่อเพลง จึงเป็นที่มาของฉายา “อย่าเล่นกับระบบ แจ๊ะ”