รอยร้าว เพื่อไทย VS ภูมิใจไทย สัญญาณ รัฐบาลไม่ยืด
เปิดรอยร้าว เพื่อไทย VS ภูมิใจไทย สัญญาณ รัฐบาลไม่ยืด อยู่ไม่นาน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทำให้เห็นรอยร้าวของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะความไม่ลงตัวระหว่าง 2 พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย
โดยในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่นำโดยพรรคเพื่อไทย เห็นว่าเกณฑ์การออกเสียงประชามติควรเป็นชั้นเดียว แตกต่างจากพรรคภูมิใจไทย ที่เสนอให้การออกเสียงประชามติ ควรเป็นสองชั้น
ระหว่างการอภิปรายมีการพูดจาพาดพิงและโจมตีกันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย อย่างชนิดที่ว่าดุเดือด ดุเด็ด เผ็ดมัน ชนิดที่ไม่รู้สึกเหมือนว่า ทั้ง 2 พรรคนั้น ต่างเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันทั้งสิ้น
อดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โจมตีพรรคภูมิใจไทย กลางสภา ว่ามีความพยายามยื้อขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พูดถึงขั้นว่ามีพฤติการณ์ถ่วงความเจริญทางประชาธิปไตย
ขณะที่ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตอกย้ำว่าพรรคภูมิใจไทย เป็นอีแอบ หวังขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ให้สำเร็จ พูดจาเอาหล่อ แต่แฝงด้วยนัยยะทางการเมือง
สัญญาณความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคชัดเจนเมื่อ “ชัยชนก ชิดชอบ” สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นกล่าวในสภาผู้แทนราษฎร โดยยืนยันจะให้เกณฑ์การออกเสียงประชามติต้องเป็น 2 ชั้น กระทั่งเมื่อมีการลงมติ ก็ปรากฏว่า สส.พรรคภูมิใจไทยทั้งหมด โหวตสวนมติพรรคร่วมรัฐบาล
นี่แค่ประเด็นหนึ่งเท่านั้น ที่แสดงให้เห็นถึงรอยร้าวระหว่างพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
แต่หากย้อนไปเพียงหนึ่งสัปดาห์ ก็จะเห็นรอยปริอีกหนึ่ง ที่เห็นได้ชัดไม่ต่างกัน
โดยเมื่อสัปดาห์ก่อน นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแก้ไข พรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
โดยหลักการและเหตุผลของการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุว่า ให้อำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น เพราะมองว่าการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 แม้จะมีการแต่งตั้งกรรมการ ที่มี รมว.กลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นกรรมการ
แต่การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลมีการวางตัวบุคคลที่เป็นพวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้สืบสายเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อไป ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนายทหารที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่ใช่พวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ
เนื้อหาโดยรวมในร่างกฏหมายฉบับนี้ เป็นไปเพื่อป้องกันการรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ปรากฏว่าเมื่อนักข่าวไปถาม เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กลับได้คำตอบว่า “พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วย“
นั่นทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเสียหน้า และจะถอนกฎหมายฉบับนี้ออกจากสภาเลยทีเดียว
รอยร้าวของพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ยังมีให้เห็นอีกในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะในการเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด
สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้น ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า มีการส่งผู้สมัคร ไม่ว่าจะเป็นที่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา เชียงใหม่ เป็นต้น
แต่สำหรับพรรคภูมิใจไทย แม้ไม่ได้ส่งผู้สมัครอย่างเป็นทางการ แต่ผู้สมัครในหลายจังหวัด ก็อยู่ในบ้านใหญ่ ที่คนในครอบครัวทำงานร่วมกับพรรคภูมิใจไทย เช่น จังหวัดศรีสะเกษ ว่าที่ผู้สมัครคือ วิชิต ไตรสรณกุล ที่มีลูกสาวคือ ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการและโฆษกกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
ความที่การเลือกตั้งท้องถิ่นบางทีอาจจะดุเดือดกว่าการเลือกตั้งระดับชาติ ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการขัดแย้งกันระหว่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย
สัญญาณความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรค ยังถูกส่งผ่าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา พรรคกล้าธรรม มือทำงานของทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.67 ว่า “พรรคไหนไม่เห็นด้วยบ่อยๆ ก็ควรจะแยกไป“
คล้ายกับที่ “ทักษิณ” ได้กล่าวไว้ในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยว่า พรรคไหน ไม่อยากร่วมรัฐบาล ก็ขอให้บอก